ตามทฤษฎีการแพทย์จีน ร่างกายของคนเราจะมีเลือดและลมปราณไหลหมุนเวียนไปตามเส้นลมปราณต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งร่างกาย เป็นพลังงานทำให้อวัยวะต่างๆสามารถเคลื่อนไหวทำงาน และมีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกัน ทำให้ร่างกายสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ เมื่อมีเหตุมาทำให้การไหลเวียนของเลือดลมปราณเกิดการติดขัด อวัยวะต่างๆก็จะทำงานผิดปกติไป ร่างกายจึงเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา
บรรพบุรุษชาวจีนในยุคโบราณได้ค้นพบว่า การใช้เข็มปักลงไปยังจุดบางตำแหน่งในร่างกาย สามารถกระตุ้นลมปราณให้ไหลเวียนต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงทำให้อวัยวะที่ทำงานผิดปกติไปนั้นกลับคืนสู่สภาพปกติ จากนั้นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นก็จะหายไปได้
ตามทฤษฎีการแพทย์สมัยใหม่นั้น การฝังเข็มเป็นวิธีการกระตุ้นระบบประสาทอย่างหนึ่ง ที่สามารถปรับการทำงานของระบบต่างๆภายในร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับสู่สภาพปกติโดยผ่านทางระบบประสาท ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า “Neuromodulation”
กลไกการออกฤทธิ์รักษาโรคของการฝังเข็ม
นักวิทยาศาสตร์และแพทย์พบว่าเมื่อปักเข็มลงไปยังจุดหนึ่งๆบนร่างกายแล้วทำการกระตุ้นจะสามารถกระตุ้นตัวรับสัญญาณประสาท(receptor)ได้หลายชนิด ที่กระจายอยู่ในแต่ละชั้นของเนื้อเยื่อ ตั้งแต่ชั้นผิวหนัง, เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง, เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ, กล้ามเนื้อ,เส้นประสาท, หลอดเลือดและเยื่อหุ้มกระดูก เป็นต้น ทำให้เกิดสัญญาณประสาทจำนวนมากวิ่งกระจายเข้าสู่ไขสันหลังและสมอง
สัญญาณประสาทส่วนหนึ่งจะย้อนออกมาจากไขสันหลัง เกิดเป็นวงจรสะท้อนกลับ(reflex) ไปทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อและอวัยวะบริเวณใกล้เคียงที่ถูกเข็มปัก เช่น มีการขยายตัวของหลอดเลือด มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว การกระตุ้นเข็มยังสามารถกระตุ้นเซลล์บริเวณรอบๆเข็ม ให้มีการหลั่งสารชีวเคมีจำพวก cytokines, growth factors ชนิดต่างๆจำนวนมากออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สาร myokines ที่สร้างมาจากเซลล์กล้ามเนื้อ
สัญญาณประสาทส่วนหนึ่งจะเคลื่อนที่ขึ้นไปตามไขสันหลัง เข้าไปกระตุ้นเซลล์ประสาทต่างๆที่กระจายอยู่ในไขสันหลังและสมอง ทำให้มีการหลั่งสารชีวเคมีภายในร่างกายจำนวนหลายชนิดออกมา ซึ่งเป็น “สารสื่อสัญญาณประสาท”(neurotransmitter) และฮอร์โมนต่างๆ อาทิเช่น สารเอนดอร์ฟิน(endorphin), ACTH, GnRH, FSH, LH, Oxytocin, Cathecholamines, Corticosteroids ฯลฯ เป็นต้น สารชีวเคมีเหล่านี้จะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อไปออกฤทธิ์ยังเป้าหมาย
เซลล์ประสาทในไขสันหลังและสมองที่ถูกกระตุ้นจากการฝังเข็มนั้น จะมีการส่งสัญญาณประสาทตอบสนองออกมาตามระบบประสาทส่วนปลายและระบบประสาทอัตโนมัติ แล้วไปออกฤทธิ์ร่วมกับสารชีวเคมีที่หลั่งมาจากสมองและจากบริเวณที่ปักเข็ม ก่อให้เกิดผลทางสรีรวิทยาต่างๆ หลายอย่าง เพื่อร่วมกันออกฤทธิ์ในการรักษา ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างเช่น
1) ฤทธิ์รักษาของการฝังเข็มจะเกิดขึ้นในลักษณะ "หลายมิติ (multi-dimension effect)" เนื่องจากเข็มที่ปักลงไปจะแทรกผ่านเนื้อเยื่อหลายชั้นหลายชนิด เมื่อทำการกระตุ้นจึงมีการกระตุ้นเซลล์และเนื้อเยื่อหลายชนิดไปด้วยกันตั้งแต่ผิวหนังไปจนถึงกระดูก ทำให้มีผลทางสรีรวิทยาเกิดขึ้นหลายแบบและหลายระดับความลึก นอกจากนี้แล้ว การปักเข็มมักจะมีหลายตำแหน่ง ทำให้พื้นที่การกระตุ้นเกิดกระจายเป็นพื้นที่กว้างมากขึ้น ฤทธิ์การรักษาที่เกิดขึ้นหลายอย่างๆนั้น จึงมีลักษณะ"หลายมิติ" โดยเกิดขึ้นทั้งในระดับความลึกและความกว้าง ผลการรักษาของการฝังเข็มจึงเป็นผลรวมจากฤทธิ์รักษาหลายๆด้านมาประกอบด้วยกัน
ตัวอย่างเช่น ในการฝังเข็มรักษาโรคเข่าเสื่อมนั้น การฝังเข็มจะออกฤทธิ์ระงับปวด ขณะเดียวกัน จะออกฤทธิ์ลดการอักเสบ, ลดบวม, คลายกล้ามเนื้อ, เพิ่มการไหลเวียนเลือดและกระตุ้นการฟื้นตัวซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณเข่าที่บาดเจ็บเสียหายไปด้วย เป็นต้น
2) ฤทธิ์รักษาของการฝังเข็ม ไม่เพียงแต่แสดงออก ณ บริเวณที่ปักเข็มเป็นลักษณะ "เฉพาะที่( local effect)" เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อส่วนอื่นๆของร่างกายเป็นลักษณะ "ทั่วร่างกาย( general effect)" อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ในขณะปักเข็มรักษาอาการปวดเข่า นอกจากการฝังเข็มจะออกฤทธิ์รักษาต่อข้อเข่าแล้ว การฝังเข็มยังจะออกฤทธิ์ปรับการทำงานของสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายหรือง่วงนอน การเต้นหัวใจและการหายใจมักจะผ่อนช้าลงเล็กน้อย ฤทธิ์ลดการอักเสบนอกจากจะเกิดขึ้นที่เข่าแล้ว ยังออกฤทธิ์ลดการอักเสบบริเวณอื่นๆของร่างกายที่มีอยู่ควบคู่ไปด้วย เป็นต้น
3) ฤทธิ์รักษาของการฝังเข็มสามารถแสดงออกได้ 2 ลักษณะที่ตรงข้ามกัน ซึ่งเรียกว่า "ทวิลักษณะ(Dual effect)" โดยมีลักษณะ "ปรับสมดุล" ทำให้การทำงานของระบบต่างๆเข้าสู่เกณฑ์ปกติ
ตัวอย่างเช่น ในภาวะที่หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เมื่อปักเข็มที่จุด "เน่ยกวาน" บริเวณเหนือข้อมือ สามารถทำให้หัวใจเต้นช้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในภาวะที่มีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ การปักเข็มกระตุ้นจุด "เน่ยกวาน" จะไม่สามารถทำให้หัวใจเต้นช้าลงไปได้อีก แต่กลับจะเพิ่มการเต้นหัวใจให้เร็วขึ้นมาสู่ปกติแทน ถ้าหัวใจเต้นอยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่แล้ว การปักเข็มกระตุ้นจุด"เน่ยกวาน"นี้ จะไม่แสดงผลเปลี่ยนแปลงต่อการเต้นหัวใจดังกล่าวหรืออาจช้าลงเล็กน้อยในเกณฑ์ปกติเนื่องจากผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เป็นต้น
4) ฤทธิ์รักษาของการฝังเข็มอาจสามารถแสดงผลได้แบบ "ผลทันที(immediate effect)" ในระหว่างการกระตุ้นหรือหลังเสร็จสิ้นการรักษา เช่น ฤทธิ์ระงับปวด, ฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน,ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ แต่ฤทธิ์บางอย่างจะแสดงออกให้เห็นเป็นแบบ "ผลภายหลัง(delayed effect)" หลังจากผ่านการรักษาไปแล้วระยะหนึ่ง เช่น ฤทธิ์ลดการอักเสบ มักจะปรากฏหลังจากฝังเข็มไปแล้ว 2-3 วัน, ฤทธิ์รักษาอัมพาต,ฤทธิ์รักษากลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือน อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะเห็นผล เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับกลไกการออกฤทธิ์และกระบวนการฟื้นตัวหรือซ่อมแซมตัวของเซลล์และเนื้อเยื่อในแต่ละโรค เป็นสำคัญ
5) ฤทธิ์การฝังเข็ม มีลักษณะ "สะสม( accumulation effect)" กล่าวคือ การฝังเข็มในครั้งแรกๆ อาจจะไม่เห็นผล แต่เมื่อทำการกระตุ้นรักษาต่อเนื่องไประยะหนึ่ง ฤทธิ์การฝังเข็มก็จะปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ขึ้นกับกลไกการออกฤทธิ์และกระบวนการฟื้นตัวหรือซ่อมแซมตัวของเซลล์และเนื้อเยื่อ เป็นสำคัญ เช่นกัน
6) เข็มที่ปักลงไปนั้น ไม่มีการใช้ยาหรือสารเคมีใดๆเคลือบหรือใส่ลงไปด้วย ฤทธิ์ในการรักษาโรคเกิดจากการ กระตุ้นระบบต่างๆภายในร่างกายให้ปรับตัวเองสู่ภาวะสมดุล การฝังเข็มจึงไม่มีอันตรายจากการใช้เกินขนาด หรือการเกิดพิษเหมือนเช่นกับการใช้ยา
7) เนื่องจากสัญญาณประสาทที่เกิดจากการปักและกระตุ้นเข็ม จะกระจายไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งระบบประสาท และสามารถส่งต่อการทำงานของระบบภายในร่างกายได้ทุกระบบ ฤทธิ์ในการรักษาโรคของการฝังเข็มจึงกว้างขวางมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากรายชื่อตัวอย่างโรคและอาการผิดปกติต่างๆที่สามารถฝังเข็มรักษาได้ ตามการรับรองขององค์การอนามัยโลก (การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง)
อย่างไรก็ตาม การฝังเข็มมิใช่ “เข็มวิเศษ” ที่จะสามารถรักษาได้ทุกโรคหรือทุกคน แต่มันมีขีดจำกัดอยู่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นโรคที่มีพยาธิสภาพของอวัยวะเสียหายรุนแรงหรือเป็นเรื้อรังมานาน หรือเป็นผู้สูงอายุที่อวัยวะต่างๆของร่างกายเสื่อมสภาพมาก ไม่ว่าจะฝังเข็มกระตุ้นอย่างไร ร่างกายก็อาจจะไม่ตอบสนอง การรักษาก็อาจจะไม่ได้ผลดีตามที่คาดไว้ จึงต้องพิจารณาผลการรักษาเป็นรายๆประกอบไปด้วย