การเตรียมตัวก่อนไปฝังเข็ม
กล่าวสำหรับคนไทยเราแล้ว การฝังเข็มยังนับเป็นเรื่องแปลกใหม่ เมื่อจะไปรักษาย่อมมีความกังวลและความหวาดกลัว ไม่รู้ว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? ทำให้ความร่วมมือในการรักษาไม่ราบรื่น ผลการรักษาจึงอาจไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นก่อนไปฝังเข็ม ผู้ป่วยก็ควรต้องมีการเตรียมตัวด้วย


1. เตรียมใจไปรักษา

การฝังเข็มนั้นเป็นการรักษาที่มีลักษณะเป็น “หัตถการ” ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยหวาดกลัวดิ้นไปมาโดยเฉพาะ ถ้าเป็นเด็ก แพทย์ก็จะปักเข็มได้ไม่ถนัดหรือผิดพลาด ผลการรักษาย่อมไม่ดีหรือกระทั่งอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ผู้ป่วยที่มารักษาจึงควร มาด้วยความมั่นใจต่อการรักษามิใช่มาด้วยความวิตกกังวลหรือหวาดกลัว หากได้รับคำอธิบาย เกี่ยวกับการรักษาจากแพทย์แล้ว ผู้ป่วยยังรู้สึกหวาดกลัวก็ไม่ควรรักษาด้วยการฝังเข็มเพราะผลการรักษามักจะไม่ค่อยดีเสมอ

2.สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม

ในการฝังเข็ม ตำแหน่งจุดปักเข็มบางครั้งจะอยู่บริเวณใต้ร่มผ้า ผู้ป่วยจึงควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นชุดแยกส่วนระหว่างเสื้อกับกระโปรง หรือ กางเกง เสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ควรรัดแน่นเกินไปเพื่อสะดวกในการถลกพับ แขนเสื้อและปลายขากางเกงควรให้หลวมหรือกว้างพอที่ จะพับสูงขึ้นมาเหนือข้อศอกหรือข้อเข่าได้ ไม่ควรสวมถุงน่อง ในกรณีที่ต้องปักเข็มบริเวณไหล่หรือต้นคอ ก็ควรเลือกสวมเสื้อที่มีคอกว้าง ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต ควรสวมเสื้อแขนกุดและกางเกงขาสั้น จะทำให้แพทย์ปักเข็มได้สะดวกง่ายดายขึ้น

3. รับประทานอาหารให้พอเหมาะ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มาฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป หากเพิ่ง รับประทานอาหารอิ่มมาใหม่ๆหรือรับประทานมากเกินไป อาหารยังคงค้าง อยู่ในกระเพาะอาหารมาก เมื่อมาฝังเข็มซึ่งต้องนอน เป็นเวลานานๆ ถึง 20-30 นาที อาจทำให้รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะในท่านอนคว่ำ นอกจากนี้ หากต้องปักเข็มบริเวณหน้าท้อง ถ้ากระเพาะ อาหารมีอาหารบรรจุ จนพองโตมากๆ อาจทำให้เกิดอันตรายจากการปักเข็มทะลุช่องท้อง หรือกระเพาะอาหารได้ง่าย ตรงกันข้าม ไม่ควร มารักษาในขณะที่กำลังหิวจัด เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการ “หน้ามืดเป็นลม” ได้ง่ายเมื่อกระตุ้นเข็มแรงๆ ทั้งนี้เพราะว่า ร่างกายอาจขาด พลังงาน ที่จะเอามาใช้เผาผลาญ ในขณะที่ระบบประสาท และฮอร์โมนกำลังถูกกระตุ้น จากการฝังเข็ม

4. ทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย

การฝังเข็มเป็นหัตถการที่ต้องใช้วัตถุแหลมคมปักผ่านผิวหนังลงไปในร่างกาย ผู้ป่วยจึง ควรมีสภาพร่างกายที่สะอาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนมา ฝังเข็มหากผู้ป่วยสามารถอาบน้ำสระผมมาก่อนได้นั่นก็จะดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็อย่าให้ส่วน ของร่างกายบริเวณที่ต้องปักเข็มนั้นสกปรกจนเกินไป ผู้ป่วยสตรีที่กำลังมีประจำเดือนมานั้น สามารถปักเข็มรักษาได้โดยไม่มีอันตรายอะไรเลย การที่ไม่นิยมฝังเข็มในช่วงนี้คงเป็นเรื่องของความไม่สะดวกหรือความกระดากอายมากกว่า ผู้ป่วยควรขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระให้เรียบร้อยก่อนฝังเข็ม เพื่อมิให้การรักษาต้องหยุด ชะงักลงกลางคัน เนื่องจากผู้ป่วยอาจปวดท้องอยากถ่ายในระหว่างรักษานั่นเอง

5. ผ่อนคลายในขณะรักษา

เมื่อแพทย์ปักเข็มลงบนผิวหนัง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับ "ถูกมดกัด" เมื่อปักถึงตำแหน่งจุด ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อๆ หรือหนักๆ หรือชาเล็กน้อย เมื่อแพทย์เริ่มทำการกระตุ้นหมุนปั่นเข็ม ก็จะรู้สึกตื้อหรือหนักชามากขึ้น หากเกิดความรู้สึกเช่นนี้ มักจะมีผลการรักษา ดีเสมอ ในกรณีที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็มเต้นกระตุกเบาๆ เป็นจังหวะตามกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้น โดยทั่วไปแล้วในระหว่างกระตุ้นฝังเข็มผู้ป่วยไม่ควรมีอาการเจ็บปวดหรือชามากจนเกินไป หากรู้สึกเจ็บปวดมากหรือมีอาการ ชามากๆ หรือรู้สึกเหมือนถูก “ไฟฟ้าช๊อต” ควรรีบบอกแพทย์ทันที เพราะเข็มอาจจะไปโดนเส้นเลือดหรือ เส้นประสาท หรือตำแหน่งของ เข็มไม่ถูกต้อง หรือตั้งความแรงของกระแสไฟฟ้าจาก เครื่องกระตุ้นไม่เหมาะสมก็ได้ แพทย์จะได้ปรับแก้ไขให้เรียบร้อย ในระหว่างรักษา หากมีอาการผิดปกติหรือไม่สบายใดๆเกิดขึ้น เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หน้ามืด รู้สึกวิงเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม ให้รีบบอกแพทย์ผู้รักษาหรือผู้ช่วยแพทย์ทันที ขณะที่มีเข็มปักคาร่างกายนั้นควรนั่งหรือนอนนิ่งๆ ไม่ควรขยับเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายที่มีเข็มปักคาอยู่ เพราะอาจทำให้เข็มงอ หรือหักคาเนื้อได้ แต่ร่างกายส่วนอื่นๆที่ ไม่มีเข็มปักอยู่นั้นสามารถขยับเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย

การฝังเข็มนั้นเป็นการกระตุ้นระบบประสาทเพื่อปรับการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ ให้สู่สภาพสมดุล ถ้าหากมีสิ่งใด มารบกวนระบบประสาทมากไปในขณะที่กำลังกระตุ้น กลไกการปรับสมดุลของการฝังเข็มก็ ย่อมจะถูกกระทบกระเทือนไปด้วย ระหว่างที่ปักเข็ม รักษา ผู้ป่วยจึงควรอยู่ในสภาพที่สงบผ่อนคลาย อาจหลับตาและหายใจเข้าออกช้าๆให้ เป็นจังหวะสม่ำเสมอร่วมไปด้วย ในระหว่างที่ปักเข็มกระตุ้นอยู่นั้น ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกง่วงนอน เนื่องจาก การฝังเข็ม สามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่งสารเอนดอร์ฟีน (endorphins) เกิดขึ้น สารนี้มีฤทธิ์ คล้ายมอร์ฟีนช่วยลดความเจ็บปวดและ ช่วยกล่อมประสาทให้รู้สึก เคลิบเคลิ้ม เมื่อรักษา ไปหลายๆครั้ง ผู้ป่วยบางคนจะพบว่าตนเองนอนหลับได้ง่ายขึ้น หรือหลับสนิทขึ้น และจิต ใจก็จะสดชื่น แจ่มใสมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

6. การปฏิบัติตัวหลังการรักษา

หลังจากปักเข็มกระตุ้นครบเวลาตามกำหนด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาทีแล้ว แพทย์ก็จะถอนเข็มออก บางครั้งอาจมีเลือด ออกเล็กน้อยตรงจุดที่ปักเข็ม เหมือนกับเวลาไปฉีดยา เนื่องจากเข็มอาจปักไปโดนเส้นเลือดฝอยเล็กๆ เมื่อใช้สำลีกด เอาไว้สักครู่ เลือด ก็จะหยุดได้เอง หลังเสร็จสิ้นจากการรักษา โดยทั่วไปแล้วไม่มีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ ทำกิจ วัตรประจำวันต่างๆ ได้ตามปกติ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องกลับไปนอนพักที่บ้านแต่อย่างไร สามารถขับรถหรือกลับไปทำงานได้ เว้นแต่บาง คนอาจมี อาการอ่อนเพลียได้บ้างหลังจากฝังเข็ม เมื่อนอนพักแล้วก็จะหายไปได้เอง

7. การรักษาอื่นๆร่วมกับการฝังเข็ม

ผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม อาจมีโรคประจำตัวอย่างอื่นอยู่แล้วเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือด สูง โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งมักจะต้องมียารับประทานรักษาอยู่แล้วเป็นประจำหรือมีการรักษาอื่นๆเช่น กายภาพบำบัด ร่วมอยู่ด้วย โดยทั่วไปแล้วสามารถทำฝังเข็มรักษาร่วมไปด้วยได้

8. ข้อห้ามและข้อควรระวังบางประการสำหรับการฝังเข็ม

8.1) ผู้ป่วยที่ตื่นเต้นหวาดกลัวต่อการรักษามากเกินไปทั้งๆที่ได้พยายามควบคุมจิตใจตนเองอย่างเต็มที่แล้วยังไม่สามารถระงับ ความกังวลได้
8.2) ผู้ป่วยที่เหน็ดเหนื่อยหลังออกกำลังกายหนักมาใหม่ๆ
8.3) สตรีตั้งครรภ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอด เพราะว่าผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม่สามารถนอนหรือนั่งเป็นเวลานานๆได้ การ นอนหงายจะทำให้มดลูกและทารกในครรภ์กดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องอาจทำให้ผู้ป่วยมี ความดันเลือดต่ำเกิด อาการเป็นลมได้ ส่วนท่านอนคว่ำก็ไม่เหมาะสมกับสตรีขณะตั้งครรภ์ เพราะจะกดทับทารกในครรภ์และก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายแก่มารดานอกจากนี้แล้วการปักเข็มที่รุนแรงอาจกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมาก เกินไป จนทำให้เกิดการแท้งลูกได้
8.4) ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดที่เลือดออกแล้วหยุดยากเช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น หรือผู้ป่วยที่ต้อง ใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดหรือยายับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดอาทิเช่น เฮปาริน,วอร์ฟาริน,แอสไพริน โดยทั่ว ไปแล้วยัง สามารถฝังเข็มรักษาโรคได้ แต่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ แพทย์จะต้องปักหรือกระตุ้นเข็มอย่างนุ่มนวล ระวังมิให้ เข็มปักโดนเส้นเลือดใหญ่ และหลังจากถอนเข็ม ต้องใช้เวลาในการกดห้ามเลือดให้นานกว่าผู้ป่วยทั่วๆไปสักเล็กน้อย
8.5) ทารกเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคจิต โรคสมองเสื่อมที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้
8.6) ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ(pacemaker)ติดอยู่ในร่างกาย สามารถฝังเข็มรักษาโดยใช้เครื่องกระตุ้น เข็มด้วยไฟฟ้าได้ตามปกติ เพราะกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้นเข็มมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่รบกวนการทำงานของเครื่อง กระตุ้นหัวใจ
8.7) ผู้ป่วยที่มาฝังเข็ม หากเป็นหวัดมีอาการเล็กน้อยสามารถฝังเข็มต่อไปได้ แต่ถ้ามีไข้สูงหรือมีไอรุนแรงที่อาจทำให้เข็มที่ปักอยู่ หลุดหรือมีโรคอื่นเกิดแทรกซ้อน ควรงดฝังเข็มไว้ก่อนชั่วคราว รอจนอาการทุเลาแล้วจึงมาฝังเข็มรักษาต่อไป