ภาพวาดโบราณแสดงจุดลมปราณในการฝังเข็มแบบการแพทย์แผนจีน
การฝังเข็มกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electroacupuncture) เป็นรูปแบบการรักษาที่นิยมใช้ในเวชกรรมฝังเข็มแผนใหม่
การฝังเข็ม(Acupuncture) เป็นศาสตร์การรักษาโรคอย่างหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับ 4000 กว่าปีมาแล้ว ศาสตร์วิชานี้มีกำเนิดมาจากการแพทย์แผนโบราณของจีนและมีการพัฒนาสืบทอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้
การฝังเข็มได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง ได้มีการวิจัยค้นคว้าในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวางในแทบทุกแขนงสาขาของการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงกลไกการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มได้เป็นอันมาก
ปัจจุบันนี้ การรักษาโรคด้วยการฝังเข็มได้เป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์ทั่วโลกนับ 140 กว่าประเทศแล้ว
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) ได้ประกาศรับรองผลการรักษาโรคด้วยวิธีนี้มาตั้งแต่ปีค.ศ.1979
สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NIH (National Institutes of Health) ประกาศในเดือนพฤศจิกายนปีค.ศ.1996ว่า การฝังเข็มเป็น "ทางเลือกที่สมเหตุผล" ในการรักษาโรคได้หลายอย่าง เช่นกัน
"เวชกรรมฝังเข็มแผนใหม่ ( Modern acupuncture)" เป็นการประยุกต์การฝังเข็มแแบบแผนจีนเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อทำให้ผลการรักษาโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง จะได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและประเมินความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น แพทย์อาจพิจารณาส่งผู้ป่วยไปถ่ายภาพเอกซเรย์หลัง เพื่อดูตำแหน่งพยาธิสภาพว่า สาเหตุของการปวดหลังมาจากตัวกระดูกสันหลังหรือข้อต่อหรือหมอนรองกระดูกสันหลังหรือกล้ามเนื้อ? ลักษณะพยาธิสภาพเป็นการอักเสบ? หรือการติดเชื้อ? หรือมะเร็ง? เป็นต้น จากนั้นจึงกำหนดแผนการรักษาว่า เหมาะสมที่จะใช้การฝังเข็มรักษาหรือไม่? และควรจะปักเข็มอย่างไร
ในการรักษา นอกจากการฝังเข็มแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาเช่น ยาลดปวดแก้อักเสบ,ยาคลายกล้ามเนื้อ ร่วมไปด้วยในระยะเวลาสั้นๆ หรือส่งผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัดร่วมรักษาด้วย
ผู้ป่วยปวดหลังจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทบางราย ที่มีอาการปวดมากหรือมีภาวะเส้นประสาทถูกกดทับอย่างรุนแรง หากฝังเข็มแล้วอาการไม่ทุเลา อาจพิจารณาส่งปรึกษารักษาด้วยการผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดแล้ว ถ้ายังมีอาการปวดหรือมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ ก็สามารถย้อนกลับมารักษาด้วยการฝังเข็มอีกก็ได้ เป็นต้น
ดังนั้น ในแนวคิดของเวชกรรมฝังเข็มแผนใหม่ การฝังเข็มจึงไม่แยกออกมาจากการแพทย์แขนงอื่นอย่างสิ้นเชิง แต่เป็น "การร่วมรักษา" ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป้วยสามารถหายจากความเจ็บป่วยได้เร็วและดีที่สุด
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะใช้เข็มที่มีขนาดเล็กๆ ทำการปักเข็มแล้วกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าประมาณ 20-30 นาที เพื่อให้การฝังเข็มออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ จากนั้นจึงถอนเข็มออกทั้งหมด หลังเสร็จสิ้นการรักษา ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่อย่างใด
ส่วนใหญ่แล้วการรักษามักจะทำวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันสัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง ในบางรายอาจรักษาติดต่อกันทุกวัน การรักษาจะทำต่อเนื่องกันไปประมาณ 10 ครั้ง เป็น 1 ชุดของการรักษา หลังจากนั้นหยุดพักประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อรอการปรับตัวของร่างกาย แล้วทำการรักษาต่อไปเป็นชุดๆ จนกว่าจะหายหรือบรรลุเป้าหมายของการรักษา ทั้งนี้แผนการรักษาทั้งหมดแพทย์จะกำหนดจากชนิดและความรุนแรงของโรคนั้นๆและสภาพของผู้ป่วย ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย