การฝังเข็มมีอันตรายหรือไม่?

วิธีการรักษาโรคทุกอย่างล้วนมีทั้งประโยชน์และโทษเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา, การผ่าตัด , กายภาพบำบัด , การบำบัดทางจิต ฯลฯ รวมทั้งการฝังเข็มก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน อันตรายจากการฝังเข็มจึงสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งเกิดจากปัจจัยลักษณะพิเศษของตัวหัตถการเอง ที่มีการใช้วัตถุแหลมคมปักผ่านผิวหนัง รุกล้ำเข้าสู่ภายในร่างกาย อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแพทย์ผู้ทำหัตถการ เช่น ความไม่ชำนาญ ความประมาทเลินเล่อ ฝีมือการทำหัตถการที่รุนแรง เป็นต้น

อันตรายที่อาจพบได้จากการฝังเข็มได้แก่

1. เลือดออก

เป็นอาการข้างเคียงที่อาจพบได้เสมอเหมือนกับการฉีดยาทั่วๆไป มักเกิดจากการปักเข็มไปถูกเส้นเลือดเล็กๆใต้ผิวหนัง ซึ่งบางครั้งไม่สามารถมองเห็นหรือหลีกเลี่ยงได้ โดยมีเลือดซึมออกจากรูเข็มเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะหยุดได้เองโดยใช้ก้อนสำลีกดเอาไว้ชั่วขณะ บางครั้งอาจเห็นเป็นรอยจ้ำเลือดเล็กๆ ซึ่งจะหายไปได้เองภายใน 2 - 3 วัน

ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน, วอร์ฟาริน โดยทั่วไปแล้ว สามารถฝังเข็มได้ตามปกติเหมือนการไปเจาะเลือดหรือฉีดยานั่นเอง เมื่อแพทย์ทำหัตถการด้วยความนุ่มนวล ใช้สำลีกดห้ามเลือดให้นานอีกเล็กน้อย ก็ไม่มีความเสี่ยงจากภาวะเลือดไหลไม่หยุดแต่อย่างไร

2. ผื่นแพ้

ผู้ป่วยบางรายเมื่อปักเข็มแล้ว อาจเกิดผื่นแดงเป็นวงเล็กๆบริเวณผิวหนังรอบๆตัวเข็มคล้ายกับถูกยุงกัดหรือแมลงต่อย มักจะไม่คัน เป็นลักษณะผื่นเฉพาะที่ ไม่มีการกระจายลามเป็นบริเวณกว้างหรือทั่วตัว มักจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน เข้าใจว่าเป็นปฏิกิริยาอักเสบที่ไวเกินจากการกระตุ้นเข็มหรือเป็นปฏิกิริยาแพ้ต่อสารโลหะในตัวเข็ม ทั้งนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติผื่นแพ้เมื่อสัมผัสโลหะ ในกรณีที่ผื่นแพ้มีลักษณะเป็นปื้นใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงวิธีการรักษาด้วยการฝังเข็มจะเหมาะสมกว่า

3. ปักเข็มถูกอวัยวะภายในที่สำคัญ

เป็นอันตรายที่ร้ายแรงซึ่งมักเกิดจากแพทย์ฝังเข็มที่ไม่ชำนาญในด้านกายวิภาคศาสตร์ จึงทำให้มีโอกาสปักเข็มพลาดไปโดนหลอดเลือด,เส้นประสาทใหญ่และอวัยวะภายในที่สำคัญได้

4. การติดเชื้อ

เป็นอันตรายที่เกิดจากการรักษาที่ใช้เข็มไม่สะอาดหรือใช้เข็มปะปนกัน ทำให้ผู้ที่มาฝังเข็ม มีโอกาสได้รับเชื้อโรคจากผู้อื่น เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ หรือบริเวณที่ปักเข็มมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ ปัจจุบันนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาตรฐานว่า เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มต้องเป็น เข็มที่ผ่านการ "ทำให้ปราศจากเชื้อโรค"และเป็นเข็มแบบ "ใช้ครั้งเดียวทิ้ง"

ดังนั้น ในคลินิกฝังเข็มที่มีมาตรฐาน ก่อนทำหัตถการฝังเข็ม จะต้องมีการฆ่าเชื้อทำความสะอาดผิวหนังร่างกายผู้ป่วยตามหลักการแพทย์อย่างถูกต้อง ร่วมกับการใช้เข็มที่ได้มาตรฐานข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ก็สามารถจะหลีกเลี่ยงปัญหาการติดเชื้อที่จะเกิดขึ้นได้

5. อาการเป็นลม

ผู้ป่วยบางราย เมื่อปักเข็มกระตุ้นไปแล้วประมาณ 5 นาที อาจมีอาการวิงเวียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม อันเนื่องมาจากภาวะความดันโลหิตต่ำเฉียบพลันชั่วขณะ มักพบในผู้ป่วยรายใหม่ที่หวาดกลัวเข็มหรือตื่นเต้นกังวลมากๆ อาการดังกล่าวจะเกิดได้ง่ายในกรณีที่จัดให้ผู้ป่วยฝังเข็มอยู่ในท่านั่ง ถ้าจัดให้ผู้ป่วยฝังเข็มในท่านอน จะไม่เกิดภาวะดังกล่าว อย่างไรฏ็ตามผู้ป่วยที่มีลักษณะกังวลหรือกลัวเข็มมากๆ ควรหลีกเลี่ยงใช้การฝังเข็มรักษาโรคจะเหมาะสมกว่า

จากการสำรวจของ Traditional Acupuncture Institute ( TAI ) ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปีค.ศ. 1991 ในผู้ป่วยชาวอเมริกันที่ไปรับ การรักษาโรคด้วยการฝังเข็มจำนวน 575 ราย พบว่า ไม่มีรายงานอันตราย " ร้ายแรง " เกิดขึ้นเลยแม้แต่รายเดียว มีเพียงแค่ 24.6 % เท่านั้นบอกว่า เคยมีเลือดออกหรือรอยจ้ำเลือดบริเวณผิวหนัง ที่ถูกปักเข็มเพียงเล็กน้อย

จากการรายงานของนพ.ไมค์ คัมมิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของสมาคมแพทย์เวชกรรมฝังเข็มแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อ เดือนมีนาคม คศ.2010 พบว่า อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากการฝังเข็มนั้นมี เพียง 1 ใน 200,000 รายเท่านั้น ซึ่งถือว่า ต่ำมากๆ ( mes bbc.co.UK/2/hi/health/8574445.stm)

จากการสำรวจของศูนย์ฝังเข็ม รพ.ยันฮีในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พศ.2540 ถึงธันวาคม พศ.2566 ผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเข็ม จำนวน 60,371 ราย ไม่มีรายงานการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้นเลยแม้แต่รายเดียวเช่นกัน

แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกก็ยังมีความเห็นว่า การฝังเข็มเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากมันสามารถ นำเอาไปปฎิบัติได้ง่าย มีผลข้างเคียงน้อย

การฝังเข็มที่ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้น จึงแทบจะไม่มีอันตรายอะไรเลย

กลับไปบทความน่ารู้