ฝังเข็มรักษา"ออฟฟิศซินโดรม"

"ออฟฟิศซินโดรม" คือโรคอะไร

"ออฟฟิศซินโดรม"( Office syndrome) มีชื่อเรียกในทางการแพทย์แผนปัจจุบันว่า “กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง” (chronic myofascial pain syndrome) เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในหมู่คนที่ทำงานประจำอยู่ในออฟฟิศหรือสำนักงาน ที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะ ทำงานใช้คอมพิวเตอร์ หรือนั่งประชุม ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จึงมักเรียกง่ายๆว่ากลุ่มอาการ "ออฟฟิศซินโดรม" อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังพบได้ในกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานออฟฟิศอีกด้วย เช่น ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานานๆ แม่บ้านที่ทำงานครัวมากๆ เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ,บ่า,สะบัก,แขนและหลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณนี้ต้องหดตัว เกร็งอยู่ในท่าเดิมนานๆ กล้ามเนื้อจึงเกิดการอักเสบบาดเจ็บขี้นมานั่นเอง ในระยะแรก อาจมีแค่อาการปวดตึงๆเมื่อยๆเท่านั้น ซึ่งเมื่อพักผ่อนหรือนวดแล้ว ก็ทุเลาหายไปได้ แต่บางรายอาจมีอาการปวดรุนแรง จนไม่สามารถทำงานหรือนอนหลับได้

ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน กล้ามเนื้อที่อักเสบซ้ำซาก จะหดเกร็งจับตัวเป็นก้อนกลม แข็งๆ สามารถคลำได้อย่างชัดเจน เมื่อกดลงไปจะรู้สึกเจ็บมาก อาการปวดอาจลามไปศีรษะ แขน ทำให้ผู้ป่วย มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายโรคไมเกรน หรือมีอาการชาแขนลงไปจนถึงมือคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท และอาจลามไปเจ็บบริเวณหน้าอกหรือบั้นเอวก็ได้

เนื่องจาก ความเจ็บปวดเรื้อรังสามารถส่งผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทอัตโนมัติได้ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการระบบอื่นๆร่วมด้วย เช่น ใจสั่น หายใจไม่คล่อง นอนไม่หลับ หงุดหงิด เครียด วิตกกังวลง่าย เวียนศีรษะ เป็นต้น

ตัวอย่างการฝังเข็มรักษาผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม

การฝังเข็มรักษาโรค "ออฟฟิศซินโดรม" ได้อย่างไร?

โดยปกติแล้ว กล้ามเนื้อร่างกายคนเราจะมีการหดตัวและคลายตัวสลับกันเป็นจังหวะ ทำให้หลอดเลือดที่ทอดผ่านอยู่ภายในกล้ามเนื้อถูกบีบรัดและคลายออกเป็นจังหวะ เสมือนเป็นปั๊มน้ำ ดันเลือดให้ไหลไปได้อย่างสะดวก ถ้ากล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็ง ไม่มีการคลายตัว หลอดเลือดถูกบีบรัดค้างเอาไว้ การไหลเวียนของเลือดก็จะติดขัด มีสารของเสียคั่งค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ จึงทำให้เกิดการอักเสบและมีอาการปวดกล้ามเนื้อขึ้น และหากไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง กล้ามเนื้อก็จะยิ่งหดเกร็งอยู่ตลอด ไม่มีการคลายตัวเลย จึงกลายเป็นอาการปวดอย่างเรื้อรัง

การฝังเข็มสามารถรักษาโรค “กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง” นี้ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า การฝังเข็มนั้นมีฤทธิ์ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ สามารถคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งได้เป็นอย่างดี เมื่อแพทย์ปักเข็มผ่านลงไปในกล้ามเนื้อ มันจะทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อที่หดเกร็งนั้นคลายตัวออก กระตุ้นให้เลือดที่ติดขัดไหลเวียนสะดวกขึ้น สารของเสียที่คั่งค้างในกล้ามเนื้อก็จะถูกกำจัดออกไป จึงทำให้อาการปวดกล้ามเนื้อหายไปได้

นอกจากนี้แล้ว การฝังเข็มยังออกฤทธิ์รักษาอื่นๆร่วมด้วยดังนี้

  • ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆและกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อเหล่านั้น
  • กระตุ้นการทำงานระบบระงับความเจ็บปวดภายในร่างกาย ช่วยลดความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย
  • ช่วยลดความเครียด ความกังวล ช่วยแก้ไขอาการนอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
  • ช่วยแก้ไขความผิดปกติอื่นๆที่เกิดร่วมด้วย เช่น ใจสั่น,หายใจไม่คล่อง,เวียนศีรษะ,อาการชาจากเส้นประสาทถูกกดรัด เป็นต้น

วิธีการฝังเข็มรักษา

ในการรักษานั้น แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กๆ ปักตามจุดต่างๆบนร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีกล้ามเนื้อหดเกร็งมากๆ จากนั้นกระตุ้นด้วยมือและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เป็นเวลานานประมาณ 20-30 นาที โดยทั่วไปแล้ว ควรกระตุ้นรักษาประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 5 -10 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงและระยะเวลานานของผู้ป่วยในแต่ละรายด้วย

การฝังเข็มสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรค “ออฟฟิศซินโดรม” ได้ตั้งแต่ในระยะแรกที่เริ่มเป็น ไปจนถึงผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาต่างๆแล้วยังไม่ทุเลา รวมทั้งผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการใช้ยาแก้อักเสบ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ มีแผลในกระเพาอาหาร ซึ่งมีข้อห้ามใช้ยาประเภทนี้

ข้อดีอีกประการหนึ่งของการฝังเข็มในการรักษาโรคนี้คือ การฝังเข็มยังสามารถคลายกล้ามเนื้อมัดที่อยู่ลึกๆได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลังและเอว ซึ่งสามารถฝังเข็มรักษาได้เช่นกัน

การรักษาอื่นๆ

ผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาด้วยยาต่างๆเช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ ยาคลายเครียด รวมทั้งการทำกายภาพบำบัดและการทำกายบริหาร มาตรการเหล่านี้้สามารถรักษาร่วมไปกับการฝังเข็มได้ เพื่อเสริมให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น

การปรับพฤติกรรมการทำงานและการหมั่นทำกายบริหารยืดกล้ามเนื้อต้นคอ,บ่าและสะบัก และสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหล่านี้มีความสำคัญมาก อาจจะสำคัญมากกว่าการฝังเข็มเสียอีก ควรหยุดการทำงานเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถเป็นพักๆ ระหว่างพักทำงานหมั่นทำกายบริหารยืดกล้ามเนื้อ หลังเลิกงาน ถ้ารู้สึกปวดระบมมาก ให้ประคบเย็นเพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน เพื่อลดการอักเสบซ้ำๆ เป็นต้น

กลับไปบทความน่ารู้