ฝังเข็มรักษาข้อเข่าเสื่อม

ตัวอย่างการฝังเข็มรักษาข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมคืออะไร

ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ เนื่องจากกระดูกอ่อนภายในข้อ รวมทั้งเอ็นและเนื้อเยื่อต่างๆที่อยู่รอบข้อ ได้บาดเจ็บ สึกหรอและเสื่อมสภาพไปตามอายุขัย เพราะข้อเข่าต้องแบกรับน้ำหนักของร่างกายในการเคลื่อนไหวมาตลอดชีวิต ยิ่งเป็นผู้ที่ตรากตรำทำงานหนัก รูปร่างอ้วน น้ำหนักตัวมาก ข้อเข่าก็จะยิ่งเสื่อมได้มากกว่าคนทั่วไป

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่าอยู่เป็นประจำ มักปวดมากเวลายืนหรือเดินเป็นเวลานานๆ เมื่อพักแล้วก็ทุเลาลงได้ บางครั้งจะได้ยินเสียงดังกึกๆ ภายในข้อเข่าในขณะเคลื่อนไหว เช่น เวลาเดินขึ้นลงบันได

ในบางครั้ง เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวมากๆ จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆมีการอักเสบเพิ่มขึ้น เป็นการอักเสบลักษณะเฉียบพลัน ผู้ป่วยก็จะรู้สึกปวดเข่ามากขึ้นกว่าเดิม เข่าที่อักเสบมักบวม เมื่อเอามือแตะดู จะรู้สึกอุ่นกว่าบริเวณอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง

ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน เนื้อกระดูกอ่อนจะถูกทำลาย มีหินปูนมาเกาะ ทำให้ข้อเข่าเสียรูปทรง จะเห็นขาผู้ป่วยโก่งออกได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยมักเดินขากระเผลกเนื่องจากความเจ็บปวด

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมตามแผนปัจจุบันนั้น ประกอบด้วย การออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่า การทำกายภาพบำบัด การใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่มิใช่สเตอรอยด์(NSAIDs) รวมทั้งยากระตุ้นกระดูกอ่อนและแคลเซียม สุดท้ายหากอาการไม่ทุเลา แพทย์จึงพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

บทบาทของการฝังเข็มในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

การฝังเข็มเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ โดยอาศัยฤทธิ์การรักษาหลายๆด้าน ประกอบร่วมกันดังนี้คือ

  • กระตุ้นระบบระงับความเจ็บปวด (pain modulating system) ของร่างกาย
  • ลดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆทั้งภายในและภายนอกข้อเข่า
  • กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณข้อเข่าให้ดีขึ้น
  • คลายการหดเกร็งและเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อบริเวณรอบเข่า
  • กระตุ้นกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อต่างๆ ให้ซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บเสียหายและเสื่อมสภาพ

โรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากจะมีการเสื่อมสภาพเสียหายของเยื่อหุ้มข้อ,กระดูกอ่อนและกระดูกแข็งแล้ว ยังมักมีพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆบริเวณรอบหัวเข่าร่วมด้วยเสมอ เช่น การอักเสบของเส้นเอ็น,ถุงน้ำรองเอ็น,กล้ามเนื้อ การคั่งของเลือดและน้ำเหลือง การหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบเข่า เป็นต้น จากฤทธิ์ของการฝังเข็มที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การฝังเข็มมีจุดเด่นที่สามารถออกฤทธิ์รักษาครอบคลุมพยาธิสภาพเหล่านี้ได้เกือบทั้งหมด

Yan Zhang et aI (2016) ใช้การฝังเข็มกระตุ้นด้วยไฟฟ้ารักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่า สามารถลดการทำลายกระดูกอ่อนลงได้ กระบวนการซ่อมแซมกระดูกอ่อนนี้ เกี่ยวข้องกับสารซีวเคมี growth factor ชนิดต่างๆ

วิธีการฝังเข็มรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

แผนการฝังเข็มรักษาข้อเข่าเสื่อม จะแบ่งเป็น 2 ระยะคือ

ระยะที่ 1 เป็นระยะการรักษาที่มุ่งเน้นลดภาวะอักเสบของข้อเข่า ลดอาการปวดและอาการบวม

ระยะที่ 2 เป็นระยะการรักษาที่เน้นการกระตุ้น เพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ทุเลาจากภาวะอักเสบ หลังจากผ่านการรักษาในระยะที่1 มาแล้ว รวมทั้งเน้นเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ข้อเข่า

ในการรักษาด้วยการฝังเข็มนั้น แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆ ปักตามจุดฝังเข็มบริเวณข้อเข่าและขา จากนั้นกระตุ้นด้วยมือและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เป็นเวลานานประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงเอาเข็มออกทั้งหมด หลังการรักษาผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ทั้งนี้ควรรักษาต่อเนื่องประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันประมาณ 10 ครั้ง ซึ่งในรายเรื้อรังที่เป็นมานานหรือมีอาการรุนแรง อาจต้องใช้เวลาในการรักษาต่อเนื่องยาวนานขึ้น

ผู้ป่วยที่มาฝังเข็มส่วนใหญ่มักจะสามารถเห็นผลการรักษาได้ ซึ่งได้แก่ ปวดเข่าน้อยลงหรือกระทั่งหายปวดไปเลย สามารถลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบลงไปได้ จากที่ต้องทานยาทุกวันมาเป็นการทานยาเป็นครั้งคราว เข่ายุบบวม เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วมากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

ในรายที่ข้อเข่ายังเสื่อมไม่มากหรือเป็นมาไม่นาน อาจจะเห็นผลรักษาที่หายขาดได้หรือไม่มีอาการปวดเลยนับเวลาเป็นปี ในรายที่มีอาการรุนแรง แม้ว่าการฝังเข็มจะไม่สามารถทำให้พยาธิสภาพของข้อเข่าที่เสื่อมสึกหรอไป เช่น ขาโก่ง กลับคืนมาได้เป็นปกติเหมือนเดิมก็ตาม แต่การฝังเข็มก็ยังช่วยลดอาการปวดและอักเสบให้ทุเลาลง ช่วยชะลอให้ข้อเข่าเสื่อมช้าลง และยังสามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าได้อีกด้วย

ผู้ป่วยที่เหมาะกับการฝังเข็ม

โดยทั่วไปแล้ว ควรทำฝังเข็มรักษาข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่ในระยะแรกที่มีอาการไม่มาก เพราะจะได้ผลการรักษาดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้ป่วยระยะเรื้อรัง สามารถใช้การฝังเข็มร่วมรักษาไปกับการรักษาอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะได้ประโยชน์มาก ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากวิธีการอื่นๆมาแล้ว ยังมีอาการปวดมากอยู่
  • ผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือมีความเสี่ยงสูงในการใช้ยารักษา เช่น มีแผลเลือดออกในกระเพาะอาหาร, มีภาวะไตวาย เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่สภาพร่างกายไม่พร้อมหรือไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนมากๆ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว ยังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่

ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยต้องสังเกตลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง พยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอักเสบของเข่า เช่น อย่ายืนหรือเดินเป็นเวลานานเกินไป เป็นต้น

2. ในระยะที่มีการอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดเข่ามาก เข่าบวมแดงหรือแตะแล้วรู้สึกอุ่นๆ ให้งดการออกกำลังกายบริหารหัวเข่าไปก่อน ประคบด้วยความเย็น หรือใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย เพื่อลดการอักเสบให้เร็วที่สุด

การฝังเข็มและการใช้ยาแก้อักเสบมีลักษณะเสริมฤทธิ์กันได้ ผู้ป่วยที่เดิม ทานยาแล้วอาการไม่ทุเลา เมื่อทำฝังเข็มร่วมด้วย จะเห็นการอักเสบและอาการปวดทุเลาเร็วขึ้นโดยที่ทานยาในปริมาณที่น้อยกว่าเดิมเสียอีก ทั้งนี้ อาจเนื่องจากการฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณข้อเข่า ทำให้ยาสามารถซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆได้ดีขึ้น

3.ในระยะที่การอักเสบทุเลาลงแล้ว ต้องหมั่นออกกำลังกายบริหารหัวเข่าอยู่เป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อเข่า อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ทำมากเกินไปจนเกิดการอักเสบซ้ำซ้อน

กลับไปบทความน่ารู้