ฝังเข็มรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาทคืออะไร

กระดูกสันหลังของคนเรามีลักษณะเป็นลำ ประกอบด้วยกระดูกสันหลังจำนวน 33 ชิ้น ภายในมีไขสันหลังทอดผ่านต่อลงมาจากสมอง โดยมีเส้นประสาทไขสันหลังลอดผ่านช่องระหว่างกระดูกสันหลังออกมาไปยังแขนขาและลำตัว

ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกคั่นอยู่ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับหมอนกลมแบนๆ โดยมีสารของเหลวคล้ายวุ้นบรรจุอยู่ข้างใน ทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกต่อกระดูกสันหลังและทำให้ลำกระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวดีขึ้น

หากมีแรงกดต่อกระดูกสันหลังมากๆ เช่น เวลาก้มตัวลงยกของหนักหรือในผู้ที่ตรากตรำทำงานหนักเป็นประจำ หรือผู้สูงอายุที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพ อาจทำให้เยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกขาด เนื้อวุ้นภายในหมอนรองกระดูกสันหลังจะปลิ้นทะลักออกมา ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบๆเกิดการอักเสบ บวมน้ำ การไหลเวียนของเลือดติดขัด และอาจไปกดเส้นประสาทไขสันหลังที่ทอดอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น ผู้ป่วยจึงเกิดอาการเจ็บปวดตรงบริเวณนั้น หรืออาจทำให้เส้นใยประสาทบาดเจ็บเสียหายได้ จึงมักเรียกว่า "หมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาท"

ตำแหน่งที่มักเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาทคือ หมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณคอและบั้นเอว

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณคอหรือบั้นเอว มักจะมีอาการปวดร้าวหรือชาลงไปตามแขนหรือขา กระทั่งอาจถึงปลายมือหรือปลายเท้า ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างมาก กรณีที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาทบริเวณบั้นเอว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาทกระเบนเหน็บ ได้แก่ บริเวณกระเบนเหน็บก้น,หลังต้นขา,หน้าแข้งและหลังเท้า เป็นต้น บางทีจึงเรียกว่า โรค"ปวดประสาทกระเบนเหน็บ (sciatica)"

นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยอาจมีอาการเหน็บชาหรือมีความรู้สึกแปลกๆ เช่น อาการระคายยุบยิบเหมือนมดไต่หรือเสียววูบเป็นหย่อมๆตามแนวทางเดินของเส้นประสาทไขสันหลัง ทั้งนี้เนื่องจากใยประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกของเส้นประสาทไขสันหลังเกิดการบาดเจ็บเสียหายนั่นเอง

ในกรณีเส้นใยประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเสียหาย ก็จะทำให้กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนกำลัง,ลีบลงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

แนวทางการรักษาตามการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยทั่วไปแล้วจะใช้การรักษาแบบประคับประคองเป็นสำคัญ โดยการให้ยาลดการอักเสบ, ยาแก้ปวดร่วมกับการพักผ่อนและการทำกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดหรือชามาก หรือมีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง แพทย์อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัด เพื่อเอาเนื้อวุ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังที่กดเส้นประสาทออก

การฝังเข็มรักษาโรคหมอนรองกระดูกกดเส้นประสาทได้อย่างไร?

การฝังเข็มสามารถรักษาโรคหมอนรองกระดูกกดเส้นประสาทได้ โดยอาศัยฤทธิ์การรักษาหลายๆด้าน ประกอบด้วยกันดังต่อไปนี้

  • กระตุ้นระบบระงับความเจ็บปวด( pain modulating system) ของร่างกาย
  • ลดอาการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลังและเนื้อเยื่อต่างๆบริเวณที่หมอนกระดูกสันหลังปลิ้นออกมา
  • กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและสารน้ำของเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆหมอนรองกระดูกสันหลัง มิให้เกิดการคั่งค้าง จึงลดการบวมน้ำในบริเวณนั้นด้วย
  • กระตุ้นการซ่อมแซมฟื้นฟูเส้นประสาทและเนื้อเยื่อต่างๆที่เสียหายและเสื่อมสภาพให้กลับคืนมา
  • คลายการหดเกร็งและเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อบริเวณคอและบั้นเอว

ด้วยเหตุที่การฝังเข็มมีฤทธิ์รักษาในหลายๆด้านเช่นนี้นี่เอง จึงมักจะเห็นผลการรักษาได้ค่อนข้างเร็ว จุดเด่นของการฝังเข็มรักษาโรคนี้อีกประการหนึ่งคือ การฝังเข็มไม่เพียงรักษาอาการปวดของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังสามารถรักษาความผิดปกติของเส้นประสาทที่ถูกกดเสียหายได้ด้วย เช่น อาการเหน็บชา, ระคายเคืองผิวหนัง,กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

ตัวอย่างการฝังเข็มรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนต้นคอกดเส้นประสาท

ตัวอย่างการฝังเข็มรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวกดเส้นประสาท

วิธีการฝังเข็มรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาท

แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆปักบริเวณต้นคอหรือบั้นเอว ร่วมกับจุดตามบริเวณแขนขา จากนั้นกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า นานประมาณ 20 นาที โดยทำการรักษาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน ประมาณ 5-10 ครั้ง ก็มักจะทุเลาหรือหายได้

เมื่อไรจึงควรรักษาด้วยการฝังเข็ม?

การฝังเข็มสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาทได้ ตั้งแต่ในรายที่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ทั้งนี้ในรายที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง การฝังเข็มรักษามักจะได้ผลค่อนข้างดีเสมอ

ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงที่ผ่านการรักษาแบบประคับประคองแล้วยังไม่ได้ผล หรือแพทย์แนะนำให้ผ่าตัดแล้ว แต่สภาพผู้ป่วยไม่พร้อม สามารถพิจารณาใช้การฝังเข็มเป็นทางเลือกในการรักษาก่อนได้ ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อฝังเข็มรักษาจะมีอาการทุเลาลงหรือกระทั่งหายได้

นอกจากนี้ การฝังเข็มยังเหมาะที่จะใช้รักษาในผู้ป่วยเหล่านี้อีกด้วย อันได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือมีความเสี่ยงสูงในการใช้ยารักษา เช่น มีแผลเลือดออกในกระเพาะอาหาร, มีภาวะไตวาย เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่ไม่พร้อมหรือไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนมากๆ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว ยังมีอาการปวดหรือความผิดปกติของระบบประสาทหลงเหลืออยู่

หมายเหตุ

1) ภาวะเส้นประสาทไขสันหลังถูกกด ยังพบได้ในโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ซึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรัง มีการเกาะของหินปูน การเคลื่อนตัวผิดรูปของกระดูกสันหลัง ช่องเส้นประสาทไขสันหลังแคบลง จึงทำให้เส้นประสาทมีลักษณะถูกกด สามารถใช้การฝังเข็มรักษาได้เช่นกันตามวิธีการรักษาดังกล่าวข้างต้น

2) เป้าหมายการฝังเข็มรักษาภาวะเส้นประสาทไขสันหลังถูกกด ได้แก่ ขจัดหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดและแก้ไขความผิดปกติในการทำงานของเส้นประสาท โดยที่การฝังเข็มจะออกฤทธิ์ลดการอักเสบ,ลดบวม,กระตุ้นการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลืองของเนื้อเยื่อต่างๆบริเวณนั้น จึงช่วยลดแรงกดต่อเส้นประสาท ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมีอาการดีขึ้นหรือหายไปได้ แม้ว่าพยาธิสภาพจะไม่สามารถหายไปได้ทั้งหมด เช่น อาจยังวุ้นหมอนรองกระดูกสันหลังหรือหินปูนตกค้างอยู่

อย่างไรก็ตาม กล่าวในระยะยาวแล้ว เมื่อการฝังเข็มกระตุ้นร่างกายให้ทำการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บเสียหาย วุ้นหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมา ก็อาจถูกกำจัดให้เหลือน้อยลงได้ อาการปวดชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็สามารถหายไปได้เป็นเวลานาน ดังตัวอย่าง เช่น

Bangwei Li และคณะ(2020) รายงานการฝังเข็มรักษาผ้ป่วยชายอายุ 49 ปีมีอาการปวดชาจากบั้นเอวถึงเท้าข้างซ้ายมา 15 วัน ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI)วินิจฉัยเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดเส้นประสาท หลังจากรักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้ารวม 20 ครั้งเป็นเวลา 1 เดือน อาการก็ทุเลาและหายเป็นปกติได้ภายในเวลา 2 เดือนครึ่ง หลังจากนั้นอีก 10 เดือน ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI)ซ้ำพบว่า ปริมาณเนื้อวุ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลิ้นออกมากดเส้นประสาทลดหายไปได้ถึง 57 % จากก่อนการรักษา ( จาก 933 ลบ.มม.เหลือเป็น 388 ลบ.มม.)

Hua Gu (2019) รายงานผลการรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังบั้นเอวกดเส้นประสาทจำนวน 89 ราย ได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าเป็นเวลานาน 6สัปดาห์ พบว่า ค่าดัชนีความพิการก่อนการรักษาลดลงจาก 45% เหลือเพียง 18% และเมื่อติดตามผลการรักษาต่อไปอีก 10 ปี พบว่า ดัชนีความพิการยังคงมีค่าต่ำอยู่เพียง 22% ซึ่งต่ำกว่าค่าก่อนการรักษาที่ 45% อย่างมีนัยสำคัญ

กลับไปบทความน่ารู้