ฝังเข็มรักษา นอนไม่หลับ

ปัญหาของการ “นอนไม่หลับ”

การนอนไม่หลับในยามค่ำคืนแม้จะไม่ใช่เป็นปัญหาร้ายแรงถึงแก่ชีวิตก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่ทรมานอย่างยิ่ง และเมื่อนอนไม่หลับติดต่อกันนานๆ ก็จะเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาอีกหลายอย่าง เช่น อ่อนเพลีย, เวียนศีรษะ, สมรรถภาพการทำงานถดถอย, อารมณ์จิตใจแปรปรวน เป็นต้น

สาเหตุของการนอนไม่หลับส่วนใหญ่มักมาจากความเครียดทางกายหรือทางจิตใจที่เข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมวงจรการนอนหลับทำงานผิดปกติไป ซึ่งอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจจะหลับยาก บางรายหลับง่ายแต่สะดุ้งตื่นบ่อย บางรายฝันมาก ทำให้รู้สึกนอนไม่อิ่ม การรักษาในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์อาจจะให้ยาคลายความกังวล เพื่อช่วยให้หลับได้ แต่ก็มักจะมีปัญหาการติดยาตามมาในภายหลังเสมอ

การฝังเข็มเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการรักษาภาวะ "นอนไม่หลับ" ซึ่งมีการวิจัยยืนยัน และองค์การอนามัยโลกได้รับรองผลเอาไว้ตั้งแต่พ.ศ. 2522 มาแล้ว

การฝังเข็มรักษาปัญหานอนไม่หลับได้อย่างไร?

เมื่อปักเข็มและกระตุ้นตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย จะเกิดสัญญาณประสาทเข้าสู่ไขสันหลังขึ้นไปยังสมอง มันจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง ให้มีการหลั่งสารชีวเคมีออกมาหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับกลไกการนอนหลับของคนเรา โดยเฉพาะสารที่เรียกว่า เอ็นดอร์ฟิน, กาบ้า และเมลาโทนิน

สารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ผลิตจากฮัยโปธาลามัสและต่อมใต้สมอง เป็นสารชีวเคมีคล้ายอนุพันธ์ฝิ่น (opioids) เมื่อไปจับกับตัวรับสัญญาณบนเซลล์ประสาท จะทำให้รู้สึกง่วงนอน,จิตใจสงบ, เคลิบเคลิ้ม, "สุขสบาย", รับรู้ความเจ็บปวดน้อยลง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคนที่สูบฝิ่นหรือได้รับยามอร์ฟีนนั่นเอง

สารกาบ้า (GABA) เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาท ทำให้รู้สึกง่วงนอน คลายความวิตกกังวล ยาคลายกังวลและยานอนหลับที่ใช้ในทางการแพทย์หลายชนิด มักจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสารกาบ้า

สารเมลาโทนิน (Melatonin) เป็นสารชีวเคมีที่หลั่งมาจากต่อมไพเนียนของสมอง มีหน้าที่ควบคุมวงจรของการนอนหลับและการตื่นของสมอง ทำให้การนอนหลับดำเนินไปแบบปกติ

การฝังเข็มยังออกฤทธิ์ปรับการทำงานของเซลล์ประสาทที่เปลือกสมองโดยตรง ทำให้คลื่นไฟฟ้าสมองมีจังหวะสม่ำเสมอ มีความถี่คลื่นสมองช้าลงใกล้เคียงกับคลื่นไฟฟ้าสมองของการนอนหลับ

การฝังเข็มยังออกฤทธิ์ลดการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติค ซึ่งเป็นระบบประสาทอัตโนมัติที่มีลักษณะเร่งเร้าร่างกายในยามตื่นเต้น ทำให้การทำงานของหัวใจและแรงต้านทานหลอดเลือดส่วนปลายลดลง ในระหว่างฝังเข็ม ผู้ป่วยมักจะมีอัตราการเต้นหัวใจและการหายใจผ่อนช้าลงเล็กน้อย

ฤทธิ์รักษาอาการ"นอนไม่หลับ" ของการฝังเข็มจึงมีลักษณะแบบ"หลายมิติ" นอกจากจะนอนหลับได้ดีขึ้น ยังช่วยลดความวิตกกังวล รวมทั้งปรับการไหลเวียนโลหิตของสมองและร่างกายให้ราบรื่น ปรับการทำงานของอวัยวะภายใน ทำให้ร่างกายผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้นไปด้วยกัน

แพทย์ฝังเข็มรักษาภาวะนอนไม่หลับอย่างไร?

แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆปักตามตำแหน่งจุดฝังเข็มบริเวณศีรษะ แขนขาและลำตัว จากนั้นกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ในระหว่างนั้นให้ผู้ป่วยนอนผ่อนคลายสงบนิ่งๆ นานประมาณ 20-30 นาที โดยทั่วไปจะทำการรักษาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 ครั้ง หรือเมื่อผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น ก็สามารถหยุดการรักษาได้ ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเป็นประจำตลอดไป

ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาจะรู้สึกหลับง่ายขึ้น บางรายง่วงนอนแต่หัวค่ำ นอนหลับได้นานขึ้น บางรายเห็นผลได้ชัดเจน โดยในระหว่างกระตุ้น 20- 30 นาทีนั้น จะรู้สึกง่วงนอนกระทั่งเคลิ้มหลับไปเลยก็มี

การฝังเข็มรักษาอาการนอนไม่หลับนั้นต่างกับการใช้ยานอนหลับ กล่าวคือ มันจะไปปรับการทำงานของระบบประสาทให้เข้าสู่สภาพปกติ เมื่อระบบประสาททำงานกลับเข้าสู่สมดุล ผู้ป่วยก็จะสามารถนอนหลับได้ดีขึ้นเอง เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของพยาธิสภาพ และด้วยเหตุนี้จึงไม่มีปัญหาการ “ติดยา” หรือ “ติดเข็ม”

นอกจากนี้แล้ว การฝังเข็มจะไม่มีฤทธิ์กดระบบประสาทแบบยานอนหลับ ขณะนอนหลับ สามารถปลุกให้ตื่นได้ และหลังจากตื่นนอน ผู้ป่วยจะรู้สึกสดชื่น ไม่มีอาการ "ค้าง" สะลึมสะลือเกิดขึ้นแต่อย่างไร

การฝังเข็มจึงเป็นวิธีการรักษาอาการ"นอนไม่หลับ"ที่ปลอดภัย สามารถใช้รักษาได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนถึงวัยชรา

การฝังเข็มรักษาปัญหานอนไม่หลับได้อย่างไร?

หมายเหตุ

1)ผลการตอบสนองต่อการรักษาในครั้งแรกๆ อาจจะไม่ค่อยชัดเจน ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความ"กลัวและกังวล" ของผู้ป่วยต่อการฝังเข็ม รวมทั้งสภาพแวดล้อมในห้องรักษาที่อาจจะวุ่นวาย,อึกทึกครึกโครม ดังนั้น ผู้ป่วยต้องพยายามฝึกผ่อนคลาย ทำใจให้สงบในระหว่างการกระตุ้น จึงได้ผลการรักษาที่ดี

2)ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง มีสาเหตุของการนอนไม่หลับมาจากความเครียดที่รุนแรง เช่น ปัญหาส่วนตัวและครอบครัว ปัญหาการงาน ปัญหาความเจ็บป่วยของร่างกาย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ในระยะเวลาสั้นๆ ผลการรักษาจึงอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร

กลับไปบทความน่ารู้