ฝังเข็มรักษา กลุ่มอาการวัยทอง

"กลุ่มอาการวัยทอง" คืออะไร

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีฮอร์โมนเพศหญิงมาทำหน้าที่สร้างความสมบูรณ์ของลักษณะเพศ เช่น รูปลักษณ์ทรวดทรง,การมีประจำเดือนปกติสม่ำเสมอ, ผิวหนังและเยื่อบุที่เต่งตึงชุ่มชื้นมีความยืดหยุ่น, อารมณ์จิตใจที่สดใสร่าเริงตลอดจนสมรรถภาพทางเพศที่สมบูรณ์ เป็นต้น

ฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญได้แก่ เอสโตรเจน(Estrogen)และโปรเจสเตอโรน(Progesterone)ที่สร้างมาจากรังไข่ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมการทำงานของฮอร์โมน FSH,LH, GnRH ที่หลั่งมาจากสมอง

เมื่ออายุมากขึ้น รังไข่จะเสื่อมสภาพไปตามวัย จำนวนไข่ลดน้อยลง ทำให้รังไข่ค่อยๆหยุดทำงานจนกระทั่งไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้ ลักษณะเพศผู้หญิงจึงเสื่อมสภาพตามไปด้วย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประจำเดือนจะมาน้อยลงและรอบเดือนห่างออกไปเรื่อยๆจนกระทั่งหมดไปในที่สุด

ภาวะที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน(Menopause)นี้ เรียกกันทั่วไปว่า "วัยทอง" โดยถือว่า ถ้าประจำเดือนขาดหายไปครบ 1 ปี แสดงว่ารังไข่ได้หยุดทำงานไปแล้วจริงๆ และถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้อายุเฉลี่ยที่ผู้หญิงไทยเราเข้าสู่วัยทองประมาณ 48-52 ปี

นอกเหนือไปจากการหมดประจำเดือนแล้ว ยังมีความผิดปกติด้านอื่นๆเกิดขึ้นร่วมด้วย อาการเหล่านี้มักจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงวัยทองเป็นอย่างมาก ที่สำคัญได้แก่

  • อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) ตามร่างกาย ซึ่งมักเกิดบริเวณใบหน้าและลำตัวส่วนบน
  • เหงื่อออก ตามร่างกายโดยไม่มีสาเหตุชักนำชัดเจน มักเกิดแบบ"ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย" เกิดได้ในทั้งกลางวันหรือกลางคืน บางรายออกมากจนเหงื่อท่วมทั่วตัว ผู้ป่วยบางรายจะรู้สึก "ขี้ร้อน" แต่บางรายจะรู้สึก "หนาวลึกๆข้างใน" ร่วมด้วย
  • อาการนอนไม่หลับหรือหลับยาก
  • ภาวะอารมณ์แปรปรวน เช่น วิตกกังวล หงุดหงิดโมโหง่าย ซึมเศร้า เป็นต้น

ผู้ป่วย "กลุ่มอาการวัยทอง" อาจจำแนกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้

1) กลุ่มอาการวัยทองแบบปฐมภูมิ หมายถึง กลุ่มอาการวัยทองที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของรังไข่ที่เกิดขึ้นตามอายุขัยธรรมชาติในผู้หญิงที่จะผ่านวัยเจริญพันธ์ุเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

2) กลุ่มอาการวัยทองแบบทุติยภูมิ หมายถึง กลุ่มอาการวัยทองที่พบได้ในผู้หญิงที่ยังมีอายุอยุ่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่มีเหตุบางประการที่ทำให้รังไข่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น ผู้ป่วยเนื้องอกรังไข่ที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกไป, ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง เป็นต้น

แนวทางการรักษา "กลุ่มอาการวัยทอง" ตามการแพทย์แผนปัจจุบัน จะเน้นการรักษาแบบ "ประคับประคองตามอาการ" เป็นสำคัญ ได้แก่ การออกกำลังกาย การฝึกควบคุมอารมณ์จิตใจ และการใช้ยาช่วยรักษาตามอาการเช่น ยาคลายกังวล ยาช่วยการนอนหลับ ยาต้านภาวะซึมเศร้า ยาวิตามินบำรุง เป็นต้น เพื่อรอเวลาให้พ้น "ระยะผ่าน" ซึ่งกินเวลาประมาณ 2 ปี อาการเหล่านี้จึงจะค่อยๆทุเลาลงและหายไปได้

ในกรณีที่ผู้ป่วยวัยทองมีอาการร้อนวูบวาบหรือเหงื่อออกมากจนรบกวนการใช้ชีวิต หรือตรวจพบภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนตามความเหมาะสม

ปัญหาการให้ฮอร์โมนทดแทน

เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ให้ทดแทนนั้นเป็นสารเอสโตรเจน และมักต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานนับปี จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่าง อาทิเช่น เลือดออกทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม น้ำหนักเพิ่ม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ขาบวม เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตัน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม ดังนั้น การให้ฮอร์โมนทดแทนจึงมีข้อจำกัดในการรักษา"กลุ่มอาการวัยทอง" พอสมควร

วิธีการฝังเข็มรักษา "กลุ่มอาการวัยทอง"

การฝังเข็มถือได้ว่า เป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการรักษา"กลุ่มอาการวัยทอง" ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้ประกาศรับรองผลการรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็มมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และมีการศึกษาวิจัยยืนยันเป็นจำนวนมาก

ในการรักษาแบบเวชกรรมฝังเข็มแผนใหม่นั้น แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กปักตามจุดฝังเข็มบริเวณศีรษะ,ลำตัวและแขนขา จากนั้นกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า นานครั้งละ 20-30 นาที โดยรักษาต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 8-10 ครั้ง โดยทั่วไปแล้วมักจะเห็นผลได้หลังการรักษาไปแล้วประมาณ 4-8 สัปดาห์ เมื่ออาการทุเลา สามารถลดการกระตุ้นให้ห่างออกไปเป็น 2 สัปดาห์ต่อครั้ง จนกระทั่งผู้ป่วยไม่รู้สึกเดือดร้อนกับอาการวัยทองที่มีอยู่ ก็สามารถยุติการรักษาได้

กลไกการรักษา "กลุ่มอาการวัยทอง" ด้วยการฝังเข็ม

การฝังเข็มเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดสัญญาณประสาทเข้าสู่ร่างกาย เพื่อออกฤทธิ์รักษา "กลุ่มอาการวัยทอง" ได้ โดยผ่านกลไกหลายด้านมาประกอบร่วมกันดังนี้

  • กระตุ้นการหลั่งสารเอนดอร์ฟินและปรับลดการหลั่งฮอร์โมน FSH, GnRH ในสมอง ซึ่งเชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการร้อนวูบวาบ
  • กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนจากเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆนอกเหนือไปจากรังไข่ เช่น ต่อมหมวกไต,ตับและไขมันมาทดแทน
  • ลดการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธติค ช่วยลดภาวะเหงื่อออกมากเกิน
  • ปรับการทำงานของเปลือกสมอง ช่วยลดความแปรปรวนทางอารมณ์ ทำให้นอนหลับดีขึ้น

เป้าหมายการฝังเข็มรักษา"กลุ่มอาการวัยทอง"

แม้ว่าลักษณะสำคัญของกลุ่มอาการ "วัยทอง" คือ การหมดประเดือน แต่เป้าหมายของการรักษามิใช่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีประจำเดือนใหม่อีก ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากรังไข่มีการเสื่อมสภาพไปตามอายุขัยหรือได้รับการผ่าตัด ตัดทิ้งออกไปแล้ว

เป้าหมายการฝังเข็มรักษา"กลุ่มอาการวัยทอง" คือ ลดอาการร้อนวูบวาบ, เหงื่อออก, นอนไม่หลับ, อารมณ์แปรปรวน ที่เป็นปัญหาสำคัญรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถผ่านช่วง "ระยะผ่าน" ซึ่งจะกินเวลา 1-2 ปี ไปให้ได้ด้วยความสบาย ไม่ทุกข์ทรมาน โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานฮอร์โมนทดแทน

ข้อดีของการฝังเข็มรักษา "กลุ่มอาการวัยทอง"

1) เนื่องจากการฝังเข็มรสามารถออกฤทธิ์ผ่านกลไกหลายด้าน ฤทธิ์การรักษาจึงค่อนข้างกว้างขวาง ครอบคลุมอาการ "วัยทอง" ได้หลายๆอย่างในการรักษาคราวเดียวกัน อันได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ, เหงื่อออกมาก,นอนหลับยาก,อารมณ์แปรปรวน,มึนเวียนศีรษะง่าย เป็นต้น

2) ช่วยลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนทดแทน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้

3) สามารถรักษา"กลุ่มอาการวัยทอง" ได้ทั้งแบบปฐมภูมิและแบบทุติยภูมิ

4) สามารถรักษาร่วมไปกับวิธีการอื่นๆตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การออกกำลังกาย การฝึกควบคุมอารมณ์ เป็นต้น

กลับไปบทความน่ารู้