โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์คืออะไร

"อัลไซเมอร์"เป็นโรคที่มีการเสื่อมสภาพของสมองก่อนวัยอันควร เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุดในผู้สูงอายุ โดยเรียกชื่อโรคเพื่อเป็นเกียรติแก่ อาลัวส์ อัลซ์ไฮเมอร์ จิตแพทย์และนักพยาธิวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ค้นพบโรคนี้ในปีพ.ศ. 2449

พยาฺธิสภาพสำคัญของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์นั้น จะพบว่ามีการสะสมสารโปรตีนผิดปกติเกิดขึ้นในเนื้อสมอง ทำให้เซลล์ประสาทในสมองตายลงเป็นจำนวนมาก เนื้อสมองจึงฝ่อเล็กลง การส่งสัญญาณประสาทถ่ายทอดระหว่างเซลล์ภายในสมองเกิดขัดข้องขาดตอน ทำให้การทำงานของสมองและประสาทผิดปกติไป เนื่องจากพยาธิสภาพดังกล่าวส่วนใหญ่จะเกิดที่สมองบริเวณกลีบข้างและขมับซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำและการเรียนรู้ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จึงแสดงอาการผิดปกติออกมาในลักษณะ "ความจำเสื่อม" เป็นสำคัญ

ลักษณะสำคัญของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์คือ ผู้ป่วยจะมีความจำเสื่อมถอยอย่างช้าๆและต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการนึกคิด,การใช้เหตุผล และความผิดปกติของพฤติกรรม ทั้งนี้ เราอาจจำแนกการดำเนินโรคได้ง่ายๆเป็น 3 ระยะคือ

1)ระยะแรก

เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย สังเกตเห็นได้ยาก โดยมักจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีลักษณะ "ขี้ลืม" จำเหตุการณ์เรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานไม่ได้ จึงมีลักษณะถามซ้ำบ่อยๆ พูดซ้ำในเรื่องเดิมๆ สับสนทิศทาง บางรายจะมีอารมณ์เสียง่ายหรือซึมเศร้า ซึ่งญาติมักจะคิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงวัย ผู้ป่วยระยะนี้ยังสามารถสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้

2)ระยะกลาง

เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมมากขึ้น ซึ่งญาติสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน ผู้ป่วยมักสูญเสียการตัดสินใจที่เหมาะสม มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมที่กระทบต่อกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมภายในครอบครัว เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือหรือรีโมตโทรทัศน์ไม่เป็น หลงทางกลับบ้านไม่ถูก อารมณ์แปรปรวนจากเดิมที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม ซึมเศร้า ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการประสาทหลอน เช่น คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย คู่ชีวิตนอกใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักจะมีวงจรการนอนหลับผิดปกติ เช่น หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน เป็นต้น การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะนี้ จึงค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากผู้ป่วยยังสามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีความผิดปกติ การให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาจึงมักจะทำไม่ค่อยได้

3)ระยะสุดท้าย

เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมอย่างมาก ร่วมกับความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมอย่างรุนแรง เช่น ซึมเศร้าหรือก้าวร้าวรุนแรง ไม่พูด กลั้นปัสสาวะอุจาระไม่ได้ ไม่สนใจทานอาหาร ผู้ป่วยมักจะลุกมาเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องนอนติดเตียง ร่างกายผ่ายผอมทรุดโทรม และมักเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การติดเชื้อในกระแสโลหิต

ระยะเวลาของการดำเนินโรคตั้งแต่ระยะแรกถึงระยะสุดท้ายมักจะกินเวลานานโดยเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์อย่างแน่ชัด มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์,ภาวะการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกาย เป็นต้น

การรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น ยังไม่มียาและวิธีการรักษาที่ได้ผลแน่นอน

จากความรู้ที่พบว่า การฝังเข็มสามารถรักษาความผิดปกติของระบบสมองและประสาทได้หลายอย่าง จึงมีการนำเอาการฝังเข็มมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จากการศึกษาทั้งในผู้ป่วยและในสัตว์ทดลองพบว่า การฝังเข็มสามารถรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ผลเช่นกัน

การฝังเข็มจึงถือได้ว่า เป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

การฝังเข็มรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้อย่างไร

การฝังเข็มเป็นการใช้เข็มปักลงไปตามตำแหน่งต่างๆของร่างกาย เพื่อกระตุ้นเส้นประสาทและเนื้อเยื่อต่างๆที่อยู่ในชั้นผิวหนังลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดสัญญาณประสาทและสารเคมีต่างๆผ่านไขสันหลังและกระแสเลือดส่งขึ้นไปยังสมอง เพื่อกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนต่างๆ และทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทและฮอร์โมนต่างๆออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สารกระตุ้นการเติบโตของเส้นประสาท(nerve growth factors) เพื่อออกฤทธิ์ในการรักษาซึ่งมีอยู่หลายๆด้าน ที่สำคัญได้แก่

  • กระตุ้นให้เซลล์สมองที่บาดเจ็บเสียหายให้ฟื้นตัวคืนมาและสร้างวงจรประสาทใหม่ เพื่อทำงานทดแทนเซลล์สมองส่วนที่ตายไปแล้ว ชะลอการตายของเซลล์ประสาทในสมอง
  • กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต้านการอักเสบที่มีอยู่ในร่างกาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอัลไซเมอร์
  • ปรับการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองมากขึ้น ทำให้สมองได้รับสารอาหาร,สารชีวเคมีและออกซิเจนอย่างเพียงพอ
  • ปรับการทำงานด้านอื่นๆของสมองที่จะมาช่วยเสริมการฟื้นตัวของสมอง เช่น กระตุ้นความรับรู้ของผู้ป่วยที่เฉื่อยชาลง, ลดความเครียด, ช่วยในการนอนหลับ,แก้ไขภาวะการไม่เข้าใจภาษา เป็นต้น
  • การฝังเข็มยังสามารถช่วยรักษาความผิดปกติบางอย่างที่มักพบในผู้ป่วยได้อีกด้วย เช่น การกลืนลำบาก พูดอ้อแอ้ไม่ชัด อาการสั่นกระตุก ภาวะแขนขาเกร็ง เป็นต้น

เนื่องจากการฝังเข็มสามารถออกฤทธิ์ผ่านกลไกหลายด้าน จึงมีฤทธิ์การรักษาค่อนข้างกว้างขวาง ครอบคลุมอาการได้หลายๆอย่างในการรักษาคราวเดียวกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อเด่นอย่างหนึ่งของการฝังเข็มรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

วิธีการฝังเข็มรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ในการรักษาแบบเวชกรรมฝังเข็มแผนใหม่นั้น แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กปักตามจุดฝังเข็มบริเวณศีรษะ,ลำตัวและแขนขา จากนั้นกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า นานครั้งละ 20-30 นาที โดยรักษาต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 8 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้น สามารถลดการกระตุ้นให้ห่างออกไปเป็น 2-4 สัปดาห์ต่อครั้งตามลำดับ

การฝังเข็มสามารถรักษาร่วมไปกับวิธีการอื่นๆตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การใช้ยา การออกกำลังกาย การฝึกควบคุมอารมณ์ การทำกิจกรรมบำบัด เป็นต้น

การฝังเข็มศีรษะเป็นวิธีการกระตุ้นสมองอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ โดยใช้ร่วมกับการฝังเข็มตามบริเวณแขนขาและลำตัว

ปัญหาสำคัญในการฝังเข็มรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ในการฝังเข็มรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ แพทย์มักจะพบกับปัญหาสำคัญ 2 ประการซึ่งได้แก่

1) การรักษาที่ล่าช้า เนื่องจากในระยะแรกของโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจะมีความจำเสื่อมลงอย่างช้าๆยากแก่การสังเกต ญาติมักจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้และพาผู้ป่วยมารักษาในระยะกลางของโรคที่สมองเสื่อมไปแล้วค่อนข้างมาก การรักษาล่าช้าเช่นนี้ทำให้ผลการรักษาอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข้าสู่ระยะกลางที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าว หวาดระแวง ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการฝังเข็มได้ ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการรักษาเป็นอย่างมาก

2) การรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง การฝังเข็มเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของสมองที่เกิดขึ้นตามวัยสังขารในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นกระบวนการรักษาที่ต้องใช้เวลาระยะยาวจึงจะปรากฏผล การฝังเข็มเพียง 2-3 ครั้ง ไม่สามารถเห็นผลได้ชัดเจน และเมื่ออาการดีขึ้น ยังต้องกระตุ้นรักษาเป็นระยะๆ การรักษาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

เป้าหมายในการฝังเข็มรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์คือ การป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เพื่อให้มีความรุนแรงของโรคน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การฝังเข็มรักษาที่เริ่มได้ตั้งแต่แรกและต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงอยู่เสมอ

เพื่อเป็นการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ จึงแนะนำว่า สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อาจพิจารณาทำฝังเข็มแบบ "เสริมสุขภาพ" เป็นประจำ ทั้งนี้เนื่องจากในการฝังเข็มเพื่อ "เสริมสุขภาพ" นั้น จะมีการกระตุ้นสมองและประสาทควบคู่กันไปด้วย (ดูบทความเรื่อง "ฝังเข็มเสริมสุขภาพ" ประกอบ)

การฝังเข็มรักษาความจำเสื่อมจากสาเหตุอื่น

ภาวะความจำเสื่อมนั้น นอกจากจะพบได้ในโรคอัลไซเมอร์แล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกมากมาย จึงจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เนื่องจากสาเหตุบางอย่างเมื่อได้รับการแก้ไขแล้ว ภาวะความจำเสื่อมก็จะทุเลาหายไปได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ยังมีภาวะความจำเสื่อมหลงเหลืออยู่ สามารถพิจารณารักษาด้วยการฝังเข็มได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความจำเสื่อมจากโรคอัมพาต, การได้รับบาดเจ็บศีรษะ,พิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งจะมีวิธีการรักษาที่คล้ายคลึงกัน

กลับไปบทความน่ารู้