การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาต
โรคอัมพาตคืออะไร
โรคอัมพาตเป็นโรคที่พบบ่อย ผู้ป่วยมักจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง จึงนิยมเรียกว่า“อัมพาตครึ่งซีก” ถ้าอาการแขนขาอ่อนแรงมากจนขยับเคลื่อนไหวไม่ได้เลยเรียกว่า "อัมพาต" หากยังพอขยับเคลื่อนไหวได้บ้าง เรียกว่า "อัมพฤกษ์" ผู้ป่วยอาจมีอาการชาครึ่งซีก,ปากเบี้ยว,พูดไม่ชัด, กลืนลำบาก, เวียนศีรษะ ร่วมด้วย ในรายที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยอาจหมดสติหรือชักกระตุก และเสียชีวิตไปได้ในเวลา อันรวดเร็ว
สาเหตุของโรคอัมพาตนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีได้ 2 แบบ คือ หลอดเลือดตีบตัน ทำให้สมองขาดเลือด หรือหลอดเลือดแตก ทำให้ เลือดออกในสมอง เนื้อสมอง จะถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น
การรักษาโรคอัมพาตในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบประคับประ คองตามอาการให้รอดชีวิตในช่วงวิกฤตไปก่อน จากนั้นจึงไปทำกายภาพ บำบัดเพื่อฟื้นฟูความพิการ ในภายหลัง
ปัจจุบันนี้ การรักษาโรคอัมพาตยังเป็นเรื่องที่ยากเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆหลายโรค เพราะมักจะมี ความพิการเกิดตามมาเสมอ จุดสำคัญของการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะอยู่ที่การช่วยชีวิต ให้รอดจากภาวะวิกฤตให้ได้เสียก่อน และป้องกันมิให้เกิดอัมพาตซ้ำขึ้นมาอีก ส่วนความพิการของ ร่างกายที่เกิดขึ้นนั้น ต้องรอการฟื้นตัวของสมองและระบบประสาทของตัวผู้ป่วยเองเป็นสำคัญ
ทางเลือกใหม่ของการรักษา
แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์และแพทย์เชื่อกันว่าระบบประสาทเมื่อเสียหายไปแล้วจะไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้พบว่า หากมีวิธีการกระตุ้นระบบประสาทอย่างเหมาะสม สมองและประสาทของคนเราสามารถที่จะฟื้นตัว ขึ้นมาได้ คุณสมบัตินี้ เรียกว่า “ความยืดหยุ่นของระบบประสาท (Neuroplasticity)” แม้กระทั่งในผู้สูงอายุก็ยังมีกลไกการฟื้นตัวนี้อยู่ ซึ่งการฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นสมองและระบบประสาทให้ฟื้นตัวได้
แพทย์จีนรู้จักใช้การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตอัมพฤกษ์มานานนับกว่าพันปีมาแล้ว ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ แพทย์และ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้เป็นอย่างมาก จนสามารถยืนยันได้ว่า ผู้ป่วยอัมพาตที่ได้รับการฝังเข็มรักษาจะฟื้นฟูสมรรถ ภาพร่างกายได้ดีกว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการฝังเข็ม องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (WHO) ได้รับรองผลการรักษาโรคอัมพาตด้วย การฝังเข็มมาตั้งแต่ปีพศ. 2522 แล้ว นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน พศ.2540 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ก็ได้ยอมรับเช่นกันว่า การฝังเข็มเป็น “วิธีการรักษาร่วมที่มีประโยชน์” และเป็น “ทางเลือกที่สมเหตุผล” ในการฟื้นฟูความพิการจาก โรคอัมพาต
การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตได้อย่างไร
การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตได้ โดยอาศัยกลไกหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน ที่สำคัญ ได้แก่
o กระตุ้นให้เซลล์สมองที่ยังไม่ตายให้ฟื้นตัวขี้นมา กระตุ้นให้มีการสร้าง วงจรประสาทเส้นใหม่ เพื่อทำงานทดแทนเซลล์สมองส่วน ที่ตาย ไปแล้ว
o ปรับการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองและทั่วร่างกายให้เหมาะสมขึ้น ลดความหนืดของเลือด
o กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัว เพื่อชะลอการลีบตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้แขน ขามีกำลังวังชาในการเคลื่อนไหว
o ปรับการทำงานของระบบอื่นๆในร่างกายร่วมไปด้วย เพื่อให้ร่างกายอยู่ ภาวะสมดุลย์
o การฝังเข็มยังมีข้อเด่นที่ใช้รักษาความพิการหรือความผิดปกติบางอย่าง ที่ฟื้นตัวได้ยาก อาทิเช่น การกลืนลำบาก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยวอาการชา หรือปวดแสบปวดร้อนครึ่งซีก ภาวะไม่เข้าใจภาษา สมองเสื่อม อาการ สั่นกระตุก อารมณ์ซึมเศร้า เป็นต้น
การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตควรรีบทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมารักษาในภายหลัง ก็จะได้ผลการรักษาลดน้อยลงไป เนื่องจากสมองและระบบประสาทที่เสียหายจะเสื่อมสภาพลงไปจนถึงขั้นที่ไม่สามารถฟื้นตัวคืนมาได้ และกล้ามเนื้อที่ไม่ได้เคลื่อนไหว เป็นเวลานานๆ มักจะลีบตายอย่างถาวร ยากแก่การบำบัดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอัมพาตที่เป็นมานานก็ยังพิจารณาฝังเข็มรักษาได้อยู่ แม้ว่าอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวมาเป็นปกติได้ทั้งหมด แต่ก็มักจะช่วยทำให้ความพิการที่หลงเหลืออยู่นั้นทุเลาลงไปได้
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะฝังเข็มรักษาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 ครั้งถือเป็น 1 ชุดการรักษา แล้วหยุดพักการรักษา ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ระบบประสาทปรับตัว จากนั้นจึงทำรักษาต่อไปอีกเป็นระยะๆ จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ ซึ่งทั้งนี้แผนการรักษารูปธรรมจริงๆนั้น ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละคนที่แพทย์จะต้องพิจารณา เป็นรายๆไป
การดูแลรักษาอื่นๆก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โรคอัมพาตนั้นเป็นโรคที่สลับซับซ้อน แม้ว่าการฝังเข็มจะเป็นการรักษาที่ได้ผล แต่ว่าผู้ป่วยยังต้องได้รับการรักษาวิธีอื่นๆ ร่วมไปด้วย อาทิเช่น ใช้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุพื้นฐานเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดอัมพาตซ้ำอีก ,การทำกายภาพบำบัด, การได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือจากญาติหรือผู้ดูแล ทำให้ผู้ป่วยมี กำลังใจเข้มแข็ง สามารถยืนหยัด อดทนรักษาต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานได้ เช่นนี้จึงจะทำให้ได้รับผลการรักษาที่ดี