ฝังเข็มรักษา "ปวดชามือ"จากโพรงเอ็นข้อมือตีบแคบ

กลุ่มอาการโพรงเอ็นข้อมือตีบแคบคืออะไร?

สาเหตุของอาการปวดและชามือนั้นมีมากมาย แต่ที่พบได้บ่อยๆนั้นมักเกิดจากโรคที่เรียกว่า “กลุ่มอาการโพรงเอ็นข้อมือตีบ” หรือที่เรียกว่า carpal tunnel syndrome

ข้อมือของคนเรา ประกอบด้วยกระดูกข้อมือหลายชิ้นมาเรียงติดต่อกัน มีลักษณะเป็นโพรงหรืออุโมงค์สำหรับให้เส้นเอ็น,หลอดเลือดและเส้นประสาททอดลอดผ่านไปยังฝ่ามือและนิ้วมือ ถ้าหากโพรงเอ็นข้อมือนี้เกิดตีบแคบลงจากสาเหตุต่างๆ หลอดเลือดและเส้นประสาทที่ทอดอยู่ในโพรงจะถูกกดหรือบีบรัด ทำให้การไหลเวียนของเลือดติดขัด คั่งค้าง การวิ่งของสัญญาณประสาทไม่สะดวก เส้นประสาทขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง จึงเกิดอาการปวดและชามือขึ้นมาได้

โรคนี้มักเกิดจากการทำงานที่มีการเคลื่อนไหวข้อมือมากเกินไปมาเป็นเวลายาวนาน เช่นแม่บ้าน พนักงานพิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์ ทำให้เอ็นข้อมือเกิดการอักเสบเรื้อรัง มีพังผืดเกาะอยู่ในโพรงเอ็นข้อมือ นอกจากนี้ยังพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน,สตรีตั้งครรภ์ เพราะมีความผันผวนของฮอร์โมน ทำให้มีการบวมน้ำคั่งอยู่ในโพรงเอ็นข้อมือ จึงทำให้ โพรงเอ็นข้อมือตีบแคบลง

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและชามือ เหมือนเป็นเหน็บชา บางครั้งมีลักษณะเสียวแปล๊บหรือเสียวซู่ๆ ซึ่งมักเกิดที่บริเวณฝ่ามือและร้าวลงไปยังปลายนิ้ว โดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่มือ,นิ้วชี้และนิ้วกลาง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทมีเดียน ( median nerve )มารับความรู้สึก ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดร้าวขึ้นมาที่แขนหรือข้อศอก อาการปวดและชามักเป็นมากในเวลากลางคืนตอนดึก หรือเวลาหิ้วของหนักนานๆ บางรายปวดชามากจนกระทั่งต้องปล่อยของหลุดจากมือไปเลย

ในกรณีที่รุนแรง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดกรุ่นๆทั้งมืออยู่ตลอดเวลา มือมักจะบวม ตึง กำมือได้ไม่เต็มที่ บางรายอาจมีกล้ามเนื้อนิ้วแม่มือลีบ แต่ก็พบได้น้อย

แนวทางการรักษา

ในการรักษาตามการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์มักจะเริ่มต้นรักษาโดยให้ยาจำพวกแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs) รับประทานร่วมกับยาแก้ปวด หากไม่ทุเลาอาจใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าที่เอ็นข้อมือเพื่อลดอาการอักเสบภายในโพรงเอ็นข้อมือ และถ้ายังไม่ได้ผลก็ต้องผ่าตัด เพื่อกรีดตัดแผ่นเอ็นโพรงเอ็นข้อมือ ขยายโพรงเอ็นข้อมือให้กว้างขึ้น คลายการกดรัดหลอดเลือดและเส้นประสาท อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพักการใช้งานมือข้างนั้นไปชั่วระยะหนึ่งประมาณ 2 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย โดยจะมีแผลเป็นอยู่ที่บริเวณข้อมือ และผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีอาการกำเริบขึ้นมาอีกก็ได้

ผู้ป่วยไม่ต้องการผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดไปแล้วยังมีอาการปวดชาอยู่หรือกำเริบขึ้นมาใหม่ การฝังเข็มถือเป็นทางเลือกอย่าง หนึ่งในการรักษา

การฝังเข็มรักษาโรคนี้ได้อย่างไร

การฝังเข็ม สามารถใช้รักษาโรค “กลุ่มอาการโพรงเอ็นข้อมือตีบแคบ ” ได้เช่นกัน โดยอาศัยการออกฤทธิ์ต่างๆดังนี้

  • ลดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆในโพรงเอ็นข้อมือ
  • กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว และลดการบวมคั่งน้ำของเนื้อเยื่อในโพรงเอ็นข้อมือ
  • กระตุ้นเส้นประสาทให้ทำงาน ส่งสัญญาณประสาทดีขึ้น จึงสามารถรักษาอาการปวดชาให้ทุเลาหรือหายไปได้ในที่สุด และในกรณีที่มีกล้ามเนื้อฝ่ามือ ลีบ การฝังเข็มยังสามารถกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกด้วย

ในการฝังเข็มรักษา แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆปักบริเวณข้อมือและแขน แล้วทำการกระตุ้นด้วยมือหรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เป็นเวลานานประมาณ 20-30 นาที โดยรักษาต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง การฝังเข็มจะทำให้การอักเสบและการบวมของเนื้อเยื่อต่างๆในโพรงเอ็นข้อมือลดลง และการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น จึงช่วยลดแรงดันภายในโพรงเอ็นข้อมือที่บีบรัดต่อเส้นประสาทและหลอดเลือด และทำให้การส่งสัญญาณประสาทกลับมาป็นปกติ อาการปวดชามือก็จะทุเลาหรือหายไปได้

การฝังเข็ม จึงมิใช่รักษาแต่อาการ"ปวดชา"เท่านั้น แต่ยังสามารถฟื้นฟูการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่เสียหายได้อีกด้วย

ตัวอย่างการฝังเข็มรักษาโพรงเอ็นข้อมือตีบแคบ

ข้อเด่นในการเลือกรักษาด้วยการฝังเข็ม

การฝังเข็มรักษาโรคนี้ มักให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างดีและเห็นผลได้เร็ว ในรายที่เป็นมาไม่นานหรืออาการไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในช่วงระหว่างที่ทำการรักษา ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน หรือไปทำงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องหยุดพักงานแต่อย่างไร

การฝังเข็มเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาในการรักษาผู้ปวยโรคโพรงเอ็นข้อมือตีบแคบที่มีลักษณะเหล่านี้

1) ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัด หรือกระทั่งผู้ป่วยที่ผ่าตัดไปแล้ว ยังมีอาการปวดชามืออยู่ หรือกำเริบขึ้นมาใหม่ ก็ยังสามารถฝังเข็มรักษาได้เช่นเดียวกัน

2) ผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการใช้ยาแก้อักเสบรักษา เช่น แพ้ยา มีโรคแผลกระเพาะอาหาร รวมทั้งผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ การแก้ไขสาเหตุของโรค นั่นคือ ผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมการทำงานของตนเอง โดยพยายามคิดค้นวิธีการทำงานที่จะลดภาระงานที่บริเวณข้อมือของตนเองให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการทำงานในท่ากระดกข้อมือเป็นเวลานานๆ มีการหยุดพักการใช้งานข้อมือเป็นระยะๆ มีการนวดบริเวณข้อมือ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด เป็นต้น เช่นนี้จึงจะเป็นการปัญหาในระยะยาวได้อย่างแท้จริง

กลับไปบทความน่ารู้