ฝังเข็มรักษา"ไหล่ติด"

ผู้ป่วยไหล่ติดจะมีอาการปวดไหล่มาก มักจะเอามือมาไพล่เกาหลังไม่ได้

"ไหล่ติด" คือโรคอะไร?

โรค “ไหล่ติด(Frozen shoulder)” คือโรคเอ็นหัวไหล่อักเสบแบบเรื้อรังนั่นเอง เป็นโรคที่พบได้เป็นประจำ ส่วนใหญ่แล้วมักพบในผู้ป่วยวัยกลางคนขึ้นไปที่ตรากตรำทำงาน ออกแรงใช้ไหล่และแขนมากต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่หุ้มรอบหัวไหล่บาดเจ็บ มีการอักเสบเกิดขึ้นซ้ำๆซากๆ กลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง มีพังผืดหรือหินปูนเกาะยึดที่เอ็นหัวไหล่ ทำให้เอ็นหัวไหล่ยืดหยุ่นน้อยลง จึงเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ไม่เต็มที่ และมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น จึงเรียกว่า "ไหล่ติด"

นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยวัยชราที่เอ็นและกล้ามเนื้อมีการเสื่อมสภาพ ความยืดหยุ่นของเอ็นกล้ามเนื้อลดลง หากไม่ได้หมั่นบริหารเคลื่อนไหวหัวไหล่ ก็จะมีพังผืดมาเกาะยึด ทำให้เกิด “ไหล่ติด” ได้เช่นกัน

ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ หากไม่ได้เคลื่อนไหวหัวไหล่นานๆก็จะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

อาการและอาการแสดงสำคัญของโรค “ไหล่ติด” คือ อาการปวดบริเวณหัวไหล่ เคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในท่าเอามือไพล่หลัง แตะสะบักเพื่อ "เกาหลัง" หรือ หากฝืนเคลื่อนไหว จะปวดไหล่มาก นอกจากนี้ มักปวดมากในตอนกลางคืนเมื่อผู้ป่วย หลับในท่านอนตะแคงทับหัวไหล่ข้างนั้น

การรักษาตามการแพทย์แผนปัจจุบันที่สำคัญประกอบด้วย การใช้ยาแก้ปวด, ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAID) และการทำกายภาพบำบัด เพื่อทำให้เอ็นกล้ามเนื้อที่ยึดติดนั้นคลายยืดออกมาให้ได้ แต่เนื่องจากผู้ป่วยจะปวดไหล่มาก ผู้ป่วยจึงมักจะไม่ยอมทำกายบริหาร ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้า เอ็นหัวไหล่ยิ่งยึดติดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่เคลื่อนไหวไหล่ กล้ามเนื้อหัวไหล่และต้นแขนก็จะลีบตามมา ทำให้ไม่มีแรงเคลื่อนไหวหัวไหล่ ไหล่ก็ยึดติดมากขึ้น อาการปวดก็ยิ่งทวีมากขึ้น กลายเป็น "วงจรอุบาทว์" ซ้ำเติมอาการโรคให้มากยิ่งขึ้นไปอีก จึงเป็นโรคที่สร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

การปักเข็มรักษาไหล่ติด

การฝังเข็มรักษาโรค"ไหล่ติด" ได้อย่างไร?

การฝังเข็มสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยโรค “ไหล่ติด” ได้ โดยอาศัยฤทธิ์การรักษาหลายๆด้านมาประกอบเข้าด้วยกัน ได้แก่

  • กระตุ้นระบบควบคุมความเจ็บปวดภายในร่างกายเพื่อลดอาการปวดไหล่
  • ลดการอักเสบของเอ็น,กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆบริเวณหัวไหล่
  • กระตุ้นการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลืองบริเวณหัวไหล่ ช่วยลดภาวะบวมของเนื้อเยื่อ
  • กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆที่บาดเจ็บเสียหาย
  • คลายเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ที่มีการหดเกร็งโดยสามารถกำหนดตำแหน่งกายวิภาคได้แน่นอน

ฤทธิ์ของการฝังเข็มดังกล่าวข้างต้น ทำให้ "เอ็นไหล่ยืดหยุ่นดีขึ้น" "อาการปวดบรรเทาลง" ผู้ป่วยจึงสามารถทำกายบริหารเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้ป่วยเริ่มทำกายบริหารได้ เอ็นหัวไหล่ก็จะค่อยๆยืดคลายออก อาการเจ็บปวดจาก"ไหล่ติด"ก็จะทุเลา ผู้ป่วยก็จะสามารถทำกายบริหารได้มากขึ้นอีก เอ็นหัวไหล่ก็ยิ่งยืดคลายออก อาการปวดก็ลดลงไปอีก เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง รอเมื่อร่างกายสามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บได้ โรคนี้ก็สามารถรักษาให้หายไปได้ในที่สุด

ในการรักษา แพทย์จะปักเข็มเล็กๆที่บริเวณหัวไหล่ แขนและมือ จากนั้นกระตุ้นด้วยมือและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า การรักษาจะทำประมาณสัปดาห์ละ 1- 2 ครั้ง โดยทั่วไปแล้ว มักจะเห็นผลในการรักษาได้ภายในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์

กายบริหารหัวไหล่คือ "หัวใจ"ของการรักษา

การทำกายบริหารหัวไหล่เป็นมาตรการรักษาที่สำคัญมาก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฝังเข็ม เนื่องจาก เอ็นหัวไหล่ที่มีพังผืดนั้น จะคลายออกได้ดี จะต้องอาศัยการเคลื่อนไหวหัวไหล่ มายืดให้หย่อน หากทำฝังเข็มไปแล้ว ผู้ป่วยไม่หมั่นทำกายบริหาร เอ็นหัวไหล่ก็คลายไม่ออก

โรค"ไหล่ติด"เป็นการอักเสบที่เรื้อรัง การยืดเอ็นหัวไหล่ให้คลาย มักจะต้องรู้สึกตึงเจ็บเสมอ และต้องเวลาในการรักษานานพอสมควร ผู้ป่วยจะต้องมีความอดทน ถือคติที่ว่า"ไม่เจ็บ ไม่หาย" "ใจร้อน ไม่หาย"

กลับไปบทความน่ารู้