ฝังเข็มรักษาโรคภูมิแพ้จมูก

โรคภูมิแพ้จมูกคืออะไร

ในอากาศที่ล้อมรอบตัวเรานั้น นอกจากจะมีก๊าซออกซิเจนที่ใช้สำหรับหายใจเพื่อการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีสารแปลกปลอมอื่นๆ เจือปนอยู่มากมาย อาทิเช่น ฝุ่นละออง, เชื้อโรค, สารเคมี หรือมูลตัวไรที่อาศัยอยู่ตามเครื่องนอนหมอนฟูก โดยปกติแล้ว เมื่อคนเรา หายใจเอาสารแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไป ร่างกายสามารถจะมีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันกำจัดมันออกไปจากร่างกายได้โดยไม่มีอาการผิดปกติ อะไรปรากฏออกมา

ส่วนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น ร่างกายจะมีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารแปลกปลอมเหล่านี้รุนแรงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดอาการ ผิดปกติต่างๆของทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะบริเวณจมูกเด่นชัดเป็นพิเศษ จึงเรียกว่า โรคภูมิแพ้จมูก หรือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และเมื่อพูดถึง "โรคภูมิแพ้" ก็มักจะเข้าใจว่าหมายถึง โรคภูมิแพ้จมูก นั่นเอง

อาการและอาการแสดงสำคัญ

ผู้ป่วยมักจะจามง่าย, คัดจมูก, น้ำมูกใส, มีเสมหะไหลลงคอ เหมือนกับ เป็นหวัดเรื้อรัง ในรายที่อาการไม่รุนแรง จะมีอาการดังกล่าวเป็นครั้งคราว เมื่อสูดเอาสารบางอย่างเท่านั้นเข้าไป แต่ในรายที่เป็นรุนแรงมักจะมีอาการกำเริบ บ่อยๆแทบทุกวัน รบกวนการดำเนินซีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาแก้แพ้เป็นประจำ ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาตามอีกด้วย เช่น ง่วงนอน มึนศีรษะ ปากคอแห้ง เป็นต้น

แนวทางการรักษาโรคภูมิแพ้

ตามการแพทย์แผนปัจจุบันในขณะนี้ นอกจากให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงสารที่ทราบว่าแพ้แล้ว การรักษาที่สำคัญได้แก่การให้ยาเพื่อลดอาการภูมิแพ้ เช่นยาลดน้ำมูก, ยาลดการหลั่งสารฮีสตามีน นอกจากนี้ยังมีการนำสารที่แพ้มาทำเป็นยาฉีดเพื่อลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องเป็นเวลานานนับปี

กลไกการรักษาโรคภูมิแพ้จมูกด้วยการฝังเข็ม

การฝังเข็มนั้นสามารถใช้รักษาโรคภูมิแพ้จมูกได้เช่นกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้ประกาศรับรองผลการรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็มมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522

ฤทธิ์การรักษาโรคภูมิแพ้จมูกด้วยการฝังเข็มนั้น เกี่ยวข้องกับกลไกดังต่อไปนี้

  • ปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีการตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ให้เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต้านมากเกินไป
  • กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติเฉพาะที่บริเวณโพรงจมูก ทำให้เยื่อบุจมูกลดการหลั่งน้ำมูก, ลดการบวม, ลดอาการคันระคาย
  • ลดการอักเสบของเยื่อบุจมูก

ดังนั้น การฝังเข็มรักษาโรคภูมิแพ้จมูกนั้นไม่เพียงแต่สามารถบรรเทาอาการ คัดจมูก ,จาม , ไอได้เท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การฝังเข็มสามารถปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สู่สภาพสมดุลตามปกติ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ดังนั้นเมื่อหยุดฝังเข็มแล้ว ผู้ป่วยก็จะมีอาการภูมิแพ้กำเริบน้อยลง หรือกระทั่งหายไปได้

ตัวอย่างการฝังเข็มรักษาโรคภูมิแพ้จมูก

วิธีการรักษาโรคภูมิแพ้จมูกด้วยการฝังเข็ม

แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆปักจุดบริเวณรอบจมูกและแขนขา แล้วทำการกระตุ้นประมาณ 20-30 นาที โดยทั่วไปจะทำการรักษาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 ครั้ง เมื่ออาการดีขึ้น อาจนัดมากระตุ้นซ้ำเป็นระยะๆ เช่น เดือนละ 1 ครั้ง

ส่วนใหญ่แล้วมักจะเห็นผลการรักษาได้อย่างชัดเจน โดยที่ผู้ป่วยจะจาม, คัดจมูกน้อยลง บางคนสามารถลดปริมาณยาที่รับประทานลงไปได้กระทั่งไม่ได้รับประทานยาเลยก็มี

อย่างไรก็ตาม ผลการตอบสนองต่อการฝังเข็มในผู้ป่วยแต่ละคน อาจแตกต่างกันไปบ้าง เนื่องจากการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกายขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง อาทิเช่น

  • ความสมบูรณ์ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน ทำให้ผู้ปวยบางรายอาจจะตอบสนองต่อการฝังเข็มกระตุ้นได้ไม่ดี ทั้งนี้อาจจะมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เกี่ยวข้องด้วย
  • ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารภูมิแพ้ได้ หรือได้รับสารภูมิแพ้ที่เข้มข้น ปริมาณสูง เป็นต้น

ข้อควรรู้เพิ่มเติม

1) ในกรณีที่ผู้ปวยทราบชนิดของสารที่ทำให้ตนเองเกิดอาการแพ้ หลักการสำคัญในการรักษาคือ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการสูดสัมผัสกับสารนั้นๆให้ได้

2) การดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย, การพักผ่อนที่เพียงพอ, ลดความเครียดกังวล, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญโดยพื้นฐานที่ต้องทำควบคู่กันไปเสมอ

3) ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่รักษาด้วยการฝังเข็ม หากทุเลาหรือหายแล้ว อาจมีการกำเริบได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพการณ์และเวลา ในกรณีเช่นนี้ ให้แก้ไขปัญหาด้วยการใช้ยาแก้แพ้รักษาเป็นครั้งคราวไป หากยังมีอาการกำเริบต่อเนื่อง สามารถพิจารณาฝังเข็มรักษาซ้ำได้อีก

4) การรักษาโรคภูมิแพ้จมูกโดยการฝังเข็มนี้ สามารถรักษาได้ในผู้ป่วยทุกวัย ผู้ที่มีอายุน้อย เช่น ระยะวัยรุ่นจะเห็นผลรักษาค่อนข้างดีกว่า ในผู้ป่วยเด็กเล็กยังไม่แนะนำให้ทำฝังเข็ม เนื่องจากเด็กมักจะกลัวเข็ม ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้ นอกจากนี้เด็กบางคนอาการจะทุเลาหายไปได้เองเมื่อโตขึ้น ดังนั้นควรรอให้โตแล้ว ถ้ายังมีอาการอยู่ จึงมาฝังเข็มในภายหลัง ซึ่งมักจะยังคงได้ผลอยู่เช่นกัน

กลับไปบทความน่ารู้