ฝังเข็มรักษาโรค"ลำไส้แปรปรวน"

"โรคลำไส้แปรปรวน" คืออะไร

โรคลำไส้แปรปรวน หรือนิยมเรียกว่าโรค IBS ย่อมาจากคำว่า Irritable Bowel Syndrome เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติในการทำงานของลำไส้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการย่อยอาหารและการขับถ่ายอุจจาระ มีอาการสำคัญคือ ปวดมวนท้อง, ท้องเสียหรือสลับท้องผูก, ท้องอืดท้องเฟ้อ

ลักษณะพิเศษของผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนคือ อาการปวดมวนท้องมักจะไม่รุนแรง ปวดมวนเป็นพักๆ ปวดเหมือนอยากถ่ายอุจจาระ เมื่อไปถ่ายก็จะทุเลาหรือหายไปได้ อาการท้องเสีย มักจะถ่ายเป็นอุจจาระเหลวๆ หรือเป็นก้อนเรียว แต่ไม่เป็นน้ำปริมาณมากๆเหมือนโรคอุจจาระร่วง บางรายจะมีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก อาการท้องอืดเฟ้อก็ไม่ค่อยรุนแรงเช่นกัน ผู้ป่วยมักจะรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่หลังจากรับประทานอาหารไปแล้วสักพัก จะรู้สึกมวนท้อง อยากถ่ายอุจจาระ เมื่อไปถ่ายอุจจาระอาจถ่ายออกมาเพียงเล็กน้อย อาการเหล่านี้มักเกิดหลังรับประทานอาหารแทบทุกมื้อ บางรายจะมีอาการในขณะที่กำลังเครียดกังวลหรือตื่นเต้น เช่น ตอนเช้าขณะรีบไปทำงาน, ก่อนเข้าห้องสอบ, ก่อนพูดบนเวทีต่อหน้าสาธารณะ เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงเกิดความกังวลต่อความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหลังรับประทานอาหารอยู่ตลอดเวลา จนไม่กล้าออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับความเครียดกังวลเป็นเวลายาวนาน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของลำไส้เกิดความแปรปรวน จึงทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้เกิดความผิดปกติขึ้น

การวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวน อาจจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษหลายด้าน เพื่อตัดปัจจัยอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุออกไปให้หมดเสียก่อน เช่น การติดเชื้อ, เนื้องอกมะเร็ง, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

การรักษาโรคลำไส้แปรปรวนในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการให้ยารักษาตามอาการเช่น ยาช่วยย่อย, ยาลดกรดกระเพาะอาหาร,ยาระบาย,ยาระงับท้องเสีย, ยาลดอาการหดเกร็งลำไส้,ยาคลายความวิตกกังวล ร่วมไปกับการดูแลด้านอาหารและโภชนาการ


วิธีการฝังเข็มรักษา"โรคลำไส้แปรปรวน"

ตั้งแต่สมัยโบราณ แพทย์จีนก็รู้จักใช้การฝังเข็มรักษาความผิดปกติต่างๆของระบบทางเดินอาหารมาแล้ว เช่น ปวดท้อง,อาหารไม่ย่อย, ท้องเสีย,ท้องผูก,คลื่นไส้อาเจียน ในปัจจุบัน แพทย์เวชกรรมฝังเข็มสมัยใหม่จึงได้ทดลองนำเอาวิธีการฝังเข็มมาทดลองรักษาโรคลำไส้แปรปรวน และพบว่า การฝังเข็มมีฤทธิ์รักษาโรคนี้ได้เช่นกัน

ในการรักษา แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆปักตามตำแหน่งจุดฝังเข็มบริเวณศีรษะ แขนขาและลำตัว จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนผ่อนคลายสงบนิ่งๆ แล้วกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า นานประมาณ 20-30 นาที โดยทั่วไปจะทำการรักษาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 ครั้งก็มักจะเห็นผลการรักษาได้ ในรายที่เป็นเรื้อรังมานาน อาจรักษาร่วมไปกับการใช้ยาและการควบคุมอาหารตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่ออาการดีขึ้น จึงค่อยๆหยุดการใช้ยาลงไปได้

ผลการตอบสนองต่อการฝังเข็มนั้นจะมีลักษณะค่อยๆปรากฏ กล่าวคือ

ในรายที่เป็นแบบท้องเสีย ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระน้อยลง ปวดมวนท้องไม่รุนแรง สามารถกลั้นการถ่ายอุจจาระเอาไว้ ความถี่ของการเข้าห้องน้ำในแต่ละวันจะลดลง ผู้ป่วยจะคลายความกังวล สามารถนอนหลับได้ดีขึ้นด้วย ส่วนในรายที่เป็นแบบท้องผูก ผู้ป่วยก็จะมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระมากขึ้น การเบ่งขับถ่ายอุจจาระจะง่ายขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น เป็นที่สังเกตว่า ผลการรักษาผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนแบบท้องเสีย จะเห็นผลได้เร็วกว่าแบบท้องผูก

ตัวอย่างการฝังเข็มรักษาผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน

การฝังเข็มรักษาโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างไร?

เมื่อปักเข็มและกระตุ้นตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย อันได้แก่จุดศีรษะ,ลำตัวและแขนขา จะเป็นการกระตุ้นเซลล์ต่างๆในชั้นผิวหนังและกล้ามเนื้อให้มีการสร้างและหลั่งสารชีวเคมีชนิดต่างๆออกมา แล้วส่งผ่านกระแสเลือดขึ้นไปยังสมองและอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้การฝังเข็มยังกระตุ้นให่้เกิดสัญญาณประสาท ส่งผ่านไขสันหลังขึ้นไปยังสมอง จากนั้นร่วมกันออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนและสารชีวเคมีออกมาหลายชนิด พร้อมทั้งปรับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติอันประกอบด้วยประสาทซิมพาเตติคและประสาทวากัสที่ส่งย้อนลงมายังระบบทางเดินอาหาร โดยทำให้เกิดฤทธิ์หลายด้าน อันได้แก่

  • ปรับการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ทั้งในการย่อยอาหารและการเคลื่อนไหวของลำไส้ แก้ไขภาวะท้องอืดท้องเฟ้อ
  • ลดการหดเกร็งของลำไส้ที่ทำให้ปวดมวนท้อง ขณะเดียวกันก็ปรับการบีบตัวของลำไส้ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ มีความถี่ในการขับเคลื่อนแบบปกติ ช่วยลดภาวะท้องผูก ท้องเสีย
  • รักษาภาวะอักเสบในลำไส้และส่วนอื่นๆในร่างกาย ที่อาจมีแฝงอยู่และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค
  • ลดความเครียด ผ่อนคลายความกังวล

ลักษณะพิเศษของการฝังเข็มรักษาโรคลำไส้แปรปรวน

  • ฤทธิ์รักษาของการฝังเข็มมีลักษณะ "ทวิลักษณะ"หรือที่เรียกว่า Dual effect นั่นคือว่า เมื่อลำไส้เคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ การฝังเข็มจะลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ให้ช้าลง ในทางตรงกันข้าม ถ้าลำไส้เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ การฝังเข็มจะกระตุ้นให้การเคลื่อนไหวของลำไส้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การฝังเข็มจึงสามารถรักษาโรคลำไส้แปรปรวนได้ทั้งแบบ"ท้องเสีย" และ "ท้องผูก"
  • ฤทธิ์การรักษาของการฝังเข็มมีลักษณะ "หลายมิติ" ไปพร้อมๆกัน ตัวอย่างเช่น นอกจากจะสามารถปรับการเคลื่อนไหวของลำไส้แล้ว การฝังเข็มยังมีฤทธิ์ลดอาการปวดเกร็งของลำไส้, ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ,ลดการอักเสบ, ลดความเครียดกังวล ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ทำให้ฤทธิ์การรักษาครอบคลุมกว้างขวาง
  • ฤทธิ์การรักษาของการฝังเข็มมีลักษณะ "องค์รวม" กล่าวคือ ในการรักษามิได้มุ่งแต่ที่ลำไส้อย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปยังระบบหรืออวัยวะอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ระบบสมองและประสาท, ระบบการย่อยอาหาร,ระบบภูมิคุ้มกันและระบบฮอร์โมนต่างๆ เป็นต้น อีกด้วย

ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นผลการรักษาที่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในหลายๆด้านไปพร้อมๆกันเช่น ปวดมวนท้องน้อยลง ท้องอืดน้อยลง ทานอาหารได้มากขึ้น ถ่ายอุจจาระดีขึ้น และนอนหลับดีขึ้น เป็นต้น

จากการที่ฤทธิ์รักษาของการฝังเข็มมีลักษณะกว้างขวางนี้เอง จึงสามารถนำไปใช้รักษาโรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆที่มีความผิดปกติคล้ายๆกันได้อีกด้วย ดังเช่น

  • ภาวะลำไส้ไม่เคลื่อนไหว(Ileus)หลังการผ่าตัด (ดู "ประสบการณ์ของเจมส์ เรสตัน")
  • ภาวะท้องอืดท้องเฟ้อเนื่องจากการย่อยอาหารไม่ค่อยดีในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปแล้ว
กลับไปบทความน่ารู้