ประสบการณ์ของเจมส์ เรสตัน

เจมส์ เรสตัน James Barrett Reston เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษปี 1970 เคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ถึง 2 ครั้ง เป็นผู้สื่อข่าว,คอลัมนิสต์ที่โด่งดังแห่งนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ ในกลางปีค.ศ.1971 เขาได้เดินทางไปประเทศจีน เพื่อทำข่าวเกี่ยวกับด๊อกเตอร์เฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีนิกสัน ในภารกิจเตรียมการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน



วันหนึ่งขณะพำนักอยู่ในกรุงปักกิ่ง เจมส์ เรสตันมีอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลันจากโรคไส้ติ่งอักเสบ และได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งในวันที่ 17 กรกฎาคม คศ.1971 ที่โรงพยาบาลแอนตี้อิมพีเรียลในกรุงปักกิ่ง สถานที่ซึ่งเขาได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการฝังเข็มด้วยตัวเอง

ภายหลังจากที่การผ่าตัดไส้ติ่งได้เสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อย เจมส์ เรสตันได้เขียนรายงานพิเศษเรื่อง “บัดนี้ ขอให้ผมได้เล่าเรื่องการผ่าตัดไส้ติ่งของผม ณ กรุงปักกิ่ง" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1971 โดยเล่าว่า

“ ...ในคืนที่สองหลังการผ่าตัด ผมรู้สึกแน่นท้องค่อนข้างมาก แม้ว่ามันจะไม่ปวดก็ตาม และด้วยความยินยอมของผม หลี่ชางหยวน หมอฝังเข็มประจำโรงพยาบาลก็ได้ใช้เข็มยาวๆ 3 เล่ม ปักที่บริเวณด้านนอกของข้อศอกขวาและใต้เข่าทั้งสองข้างของผม แล้วหมุนปั่นเข็มกระตุ้นลำไส้ให้เคลื่อนไหว เพื่อลดการพองตัวและแรงดันภายในกระเพาะอาหาร

เมื่อปักเข็ม ผมรู้สึกเหมือนมีคลื่นความเจ็บปวดวิ่งลงไปตามแขนขาเป็นพักๆ และอย่างน้อยที่สุดก็มีผลช่วยเบนความสนใจเกี่ยวกับอาการแน่นกระเพาะอาหารของผมไปได้บ้าง

ในระหว่างนั้น หมอหลี่ยังได้เอาสมุนไพรที่เรียกว่า “อาย” ลักษณะคล้ายกับซิการ์ราคาถูกที่หัก จำนวน 2 มวน มาจุตไฟ แล้วเอามาจ่อรมบริเวณหน้าท้องของผม สลับกับการหมุนปั่นเข็มเป็นพักๆ

มันใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งผมยังจำได้ว่า ผมรู้สึกว่ามันเป็นวิธีทีช่างยุ่งยากเหลือเกินในการขจัดแก๊สในกระเพาะอาหารของผม แต่มันก็ช่วยลดแรงดันและการพองตัวของกระเพาะอาหารได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง และหลังจากนั้นก็ไม่เกิดปัญหานี้อีกเลย ”

ข่าวชิ้นนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีความหมายสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่า หลังจากที่เจมส์ เรสตันได้รายงานออกไป สื่อมวลชนทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือวิทยุโทรทัศน์ ต่างก็ได้รู้จักและให้ความสนใจในเรื่องการฝังเข็มขึ้นมาทันที เกิดเป็นกระแส "Acupuncture fever" กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกในเวลาต่อมา

จากข้อความที่เจมส์ เรสตันเล่ามานั้น สันนิษฐานได้ว่า อาการแน่นท้องของเขา น่าจะมาจากภาวะลำไส้ไม่เคลื่อนไหวหรือที่เรียกว่า " Ileus" ซึ่งมักพบได้เสมอหลังการผ่าตัดช่องท้อง

เข็ม 3 เล่มที่หมอหลี่ปักให้แก่เจมส์ เรสตัน น่าจะเป็นจุด "ชวีฉือ"ที่ข้อศอกขวา และจุด "จู๋ซานหลี่" ที่ขาทั้งสองข้าง พร้อมกับรมสมุนไพรโกฏิจุฬาลำภาที่จุดต่างๆบริเวณหน้าท้อง เช่น จุด "ชี่ห่าย", "จงวาน", เทียนซู" และ"กวนหยวน" เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจุดบนเส้นลมปราณกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ ( การที่ไม่ใช้วิธีปักเข็มบริเวณหน้าท้อง น่าจะเป็นเพราะว่า ยังมีแผลผ่าตัดที่ปิดผ็าก๊อสอยู่ )

ภาพแสดงกลไกการฝังเข็มรักษาภาวะลำไส้ไม่เคลื่อนไหว(Ileus)

ตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีน การปักเข็มรมยาตามจุดบนเส้นลมปราณกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ จะกระตุ้นการไหลเวียนของลมปราณของอวัยวะ จึงสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจและยอมรับได้ยากสำหรับผู้คนที่คุ้นเคยกับการแพทย์แผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นมาอีก 50 กว่าปี ในปัจจุบันนี้ เราอธิบายจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ว่า...

การปักเข็มรมยาตามจุดดังกล่าว จะทำให้เกิดสัญญาณประสาทและการหลั่งสารชีวเคมีต่างๆ ส่งผ่านไขสันหลังและกระแสเลือดไปยังสมอง เพื่อกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้ส่งผลลงมาปรับการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ให้เป็นปกตินั่นเอง (ดู ฝังเข็มรักษาโรคลำไส้แปรปรวน ประกอบ)

"ประสบการณ์ของเจมส์ เรสตัน" จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์รักษาโรคของการฝังเข็มได้เป็นอย่างดี

กลับไปบทความน่ารู้