ฝังเข็มรักษาอัมพาตใบหน้า

โรคอัมพาตใบหน้าคืออะไร

โรคอัมพาตใบหน้าคือโรคที่มีกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ซึ่งมักเกิดในลักษณะครึ่งซีกของใบหน้า ส่วนกล้ามเนื้อใบหน้าอีกข้างหนึ่งยังมีแรงหดตัวตามปกติ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยอ้าปาก,ยิ้มหรือยิงฟัน มุมปากจะถูกดึงให้เลื่อนออกไปไม่เท่ากัน ทำให้เห็น “ปากเบี้ยว” เกิดขึ้น ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า "โรคปากเบี้ยว" การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า

ผู้ป่วยอัมพาตใบหน้าส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% แล้ว มักจะหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด โรคอัมพาตใบหน้าแบบที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดนี้ เรียกว่า อัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ ( Bell 's palsy ) ตามชื่อของเซอร์ชาลส์เบลล์(Sir Charles Bell) ศัลยแพทย์และนักประสาทสรีรวิทยาชาวสก๊อต ผู้รายงานกลไกทางประสาทกายวิภาคของการเกิดอัมพาตใบหน้าเป็นคนแรกในปีค.ศ.1821

ผู้ป่วยอัมพาตใบหน้าอีกประมาณ 30 % จะมีสาเหตุที่ชัดเจนเช่น ได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดบริเวณใบหน้า,ติดเชื้อไวรัสงูสวัด,อัมพาตโรคหลอดเลือดสมอง,เนื้องอกมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งอาจเรียกรวมเป็น อัมพาตใบหน้าที่ไม่ใช่แบบเบลล์ ( non-Bell's palsy)

เนื่องจากอัมพาตใบหน้าทั้งสองแบบ มีความแตกต่างกันในหลายๆด้าน เช่นการดำเนินของโรค,การรักษาและพยากรณ์โรค ดังนั้น จึงต้องวินิจฉัยโรคจำแนกให้ถูกต้อง

อัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ ( Bell 's palsy )

อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยกลุ่มนี้ เกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า,หูชั้นใน,ต่อมน้ำตาและต่อมรับรสที่ลิ้น ผู้ป่วยมักจะรู้สึกถึงอาการผิดปกติหลังจากตื่นนอน โดยจะสังเกตเห็นว่า ตนเองหลับตาข้างที่อัมพาตได้ไม่สนิท ล้างหน้าแล้วน้ำเข้าตา ยักคิ้วข้างนั้นไม่ขึ้น เวลายิงฟันจะเห็นปากเบี้ยวไปด้านตรงกันข้าม เวลาดื่มน้ำมีน้ำรั่วออกมาที่มุมปาก เมื่อรับประทานอาหารจะมีเศษอาหารค้างในซอกแก้ม เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการในระหว่างวันก็ได้

แม้ว่าอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์จะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมักจะมีประวัติการตรากตรำทำงานหนัก อดหลับอดนอน มีความเครียดทางจิตใจ บางคนนอนโดนพัดลมหรือแอร์เย็นเป่าบริเวณศีรษะหรือใบหน้าเป็นเวลานาน จึงสันนิษฐานว่า ปัจจัยเหล่านี้อาจมีผลทำให้การไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ติดขัด ทำให้เส้นประสาทขาดเลือด เกิดการอักเสบเสียหาย ประกอบกับเส้นประสาทเส้นนี้ทอดผ่านช่องแคบๆในกระดูกกกหู เมื่อมีการบวมของเส้นประสาทที่อักเสบ จึงอาจจะยิ่งทำให้เส้นประสาทถูกกดอัดและขาดเลือดมากขึ้นได้ง่าย

ลักษณะผู้ป่วยอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ข้างขวา

ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู ระดับการได้ยินไวเกินทำให้รู้สึกเหมือนคู่สนทนา "ตะโกน" ทั้งๆที่คุยกันตามปกติ น้ำตาไม่ค่อยมี, ทานอาหารไม่มีรสชาติ ร่วมด้วย ความผิดปกติเหล่านี้เกิดจากระดับความเสียหายของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 นั้นอยู่สูงลึกเข้าไปหูชั้นในใกล้สมอง ความรุนแรงของโรคจะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเหล่านี้

ดังนั้นผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ระดับรุนแรง จะมีอาการสำคัญคือ

1) กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงมากจนไม่สามารถขยับได้เลย

2) มีอาการไวต่อการได้ยินเสียงมากเกิน,หูอื้อ,เสียงดังในหู,ไม่ค่อยมีน้ำตาไหลและ ทานอาหารไม่มีรสชาติ

การดำเนินโรคของอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

1) ระยะเกิดอาการ เป็นระยะที่ผู้ป่วยเริ่มเกิดอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงเล็กน้อย แล้วค่อยๆมากขึ้น จนอ่อนแรงมากอย่างสมบูรณ์ ซึ่งกินเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายรีบมาพบแพทย์เร็วมากหลังเกิดอาการเพียง 1-2 ชั่วโมง เมื่อได้รับการรักษา พบว่า อาการแย่ลงกว่าเดิม อาจเข้าใจผิดได้ว่า การรักษานั้น "ผิดพลาด" ทั้งๆที่เป็นลักษณะของตัวโรคเอง แต่ผู้ป่วยบางรายจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วทั้งใบหน้าอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่แรกทันทีเลยก็ได้

2) ระยะหยุดนิ่ง เป็นระยะที่อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าจะอยู่ตัวในระดับคงที่ ซึ่งอาจเป็นการอ่อนแรงบางส่วนหรืออ่อนแรงเต็มที่ก็ได้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ไม่แย่ลงไปกว่าเดิมอีกแล้ว แต่ยังไม่มีการฟื้นตัวเกิดขึันให้เห็น ในรายที่ไม่รุนแรง มักจะมีระยะหยุดพักประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่ในรายที่มีการเสียหายของเส้นประสาทรุนแรง ระยะหยุดนิ่งจะนานถึง 4 เดือน จึงจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว หากเกิน 6 เดือนไปแล้ว โอกาสที่จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัวแทบจะไม่มีเลย

3) ระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่เริ่มปรากฏการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า ผู้ป่วยจะเริ่มสามารถขยับเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของใบหน้าได้ทีละเล็กละน้อย

ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงซึ่งกล้ามเนื้อใบหน้ายังพอขยับได้บ้างนั้น 94%ของผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถทุเลาหายได้เป็นปกติภายในเวลา 6 เดือน

ในรายที่มีอาการรุนแรงที่กล้ามเนื้อใบหน้าขยับไม่ได้เลยนั้น โอกาสที่จะหายเป็นปกติจะลดลงเหลือประมาณ 61 % เท่านั้น ที่เหลือประมาณ 30% จะกลายเป็นลักษณะ "อัมพาตเรื้อรัง ไม่สามารถหายเป็นปกติได้ ยังคงมีความผิดปกติของใบหน้าหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะ "ปากเบี้ยว" "หน้ากระตุก" "น้ำตาไหลขณะทานอาหารหรือขณะพูดคุย" ทำให้สูญเสียบุคลิกภาพ กระทั่งไม่สามารถทำงานในอาชีพที่ต้องพบปะพูดคุยกับผู้คนเป็นประจำได้

กลไกของการฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตใบหน้า

  • การฝังเข็มสามารถกระตุ้นการฟื้นตัวเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่เสียหายได้โดยตรง ชะลอการเสื่อมสภาพและการลีบของกล้ามเนื้อ
  • การฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตบริเวณใบหน้า ช่วยลดอาการตึงชาหรือหนักๆบริเวณใบหน้าที่มักพบในผู้ป่วยเรื้อรัง ที่กล้ามเนื้ออัมพาตนานๆ จึงมีการคั่งของเลือดและน้ำเหลืองให้บรรเทาลงได้
  • การฝังเข็มยังสามารถกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณใบหน้า ช่วยรักษาอาการชาใบหน้าที่อาจพบร่วมด้วย หรือในผู้ป่วยอัมพาตใบหน้าที่เกิดหลังการผ่าตัดหรือเคยได้รับการฉายแสงรักษา
  • การฝังเข็มยังสามารถช่วยรักษาอาการแทรกซ้อนอื่นๆที่มักพบได้ในผู้ป่วยอัมพาตเรื้อรัง เช่น กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก ภาวะน้ำตาไหลขณะเคี้ยวอาหาร (crocodile tears) เป็นต้น ได้อีกด้วย

วิธีการฝังเข็มรักษาอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์

การรักษาอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ตามการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบและการบวมของเส้นประสาทที่เชื่อกันว่าเป็นพยาธิสภาพสำคัญ นอกจากนี้อาจให้ยาต้านไวรัส,วิตามินบำรุงเส้นประสาท ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู

การฝังเข็มเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถนำเอามาใช้รักษาร่วมด้วย ทั้งนี้โรคอัมพาตใบหน้าถือเป็นโรคหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกได้รับรองว่าสามารถใช้การฝังเข็มรักษาได้

ประเด็นสำคัญคือ แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 90% ที่จะหายได้เองภายในเวลา 6 เดือนนั้น แต่มักเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โอกาสหายเป็นปกติจะลดลงเหลือประมาณ 60% การรอเวลาให้เส้นประสาทฟื้นตัวเอง จึงอาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาไป

หลี่หยิงและคณะได้ทำการศึกษาในผู้ป่วย Bell’s palsy จำนวน 439 ราย พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเข็มและรมยา จะมีผลการรักษาดีกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเพรดนิโซโลน,วิตามิน บี1 ,บี 12 และ dibazole โดยมีอัตราการหายเป็นปกติ เท่ากับ 41 % และ 28 % ตามลำดับ

จากการศึกษาการฝังเข็มรักษาอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ชนิดรุนแรงของศุนย์ฝังเข็มรพ.ยันฮี พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยเร็วภายใน 10 วันแรก มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าได้เร็วขึ้นโดยมีอัตราการหายเป็นปกติภายในเวลา 2 เดือนประมาณ 62%

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือต้องรีบทำการรักษาโดยเร็วที่สุดจึงจะได้ผลดี

ในการรักษา แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆปักตามจุดบริเวณใบหน้าและแขนขา เพื่อกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยทำวันละ 1 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลานานประมาณ 20-30 นาที กระตุ้นสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยใช้เวลารักษาประมาณ 4-6 เดือนก็มักจะหายเป็นปกติได้

อย่างไรก็ตามผลการรักษาอาจแตกต่างไปในผู้ป่วยแต่ละรายที่มีความรุนแรงและระยะเวลาป่วยก่อนการรักษาที่ยาวนานต่างกัน ผุ้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ได้รับการรักษาเร็ว อยู่ในวัยเด็กหรือหนุ่มสาว ไม่มีโรคประจำตัว ย่อมสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า

อัมพาตใบหน้าที่ไม่ใช่แบบเบลล์ ( Non Bell 's palsy )

ผู้ป่วยอัมพาตแบบนี้ มักมีสาเหตุอย่างชัดเจนที่ทำให้เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เกิดความเสียหาย และนำไปสู่อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสงูสวัดที่บริเวณหูหรือใบหน้า ทำให้เส้นประสาทอักเสบ,ผู้ป่วยได้รับอุบัตเหตุใบหน้าหรือผู้ป่วยเนื้องอกต่อมน้ำลายที่ได้รับการผ่าตัดที่มีการตัดขาดของเส้นประสาทหรือได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็งบริเวณลำคอ ผู้ป่วยอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ทำให้เซลล์ประสาทขาดเลือด เป็นต้น

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะไม่มีลักษณะการดำเนินโรคชัดเจนเหมือนกับแบบเบลล์ ความผิดปกติสำคัญจะเป็นปัญหาของกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ร่วมกับความผิดปกติอื่นของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ตุ่มน้ำงูสวัด,บาดแผลหรือแผลผ่าตัดใบหน้า,แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นต้น

การฝังเข็มรักษาอัมพาตใบหน้าที่ไม่ใช่แบบเบลล์

กลไกและวิธีการฝังเข็มรักษาอัมพาตใบหน้ากลุ่มนี้ จะคล้ายกับที่กล่าวมาแล้วในอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์ อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาและพยากรณ์โรคจะแตกต่างออกไป ตามชนิดความเสียหายจากโรคที่เป็นสาเหตุ กล่าวคือ

อัมพาตใบหน้าจากโรคหลอดเลือดสมอง,การติดเชื้อไวรัสงูสวัด มักจะมีผลการรักษาที่ดี ส่วนการรักษาอัมพาตใบหน้าจากเส้นประสาทที่ถูกตัดขาด,การถูกฉายรังสี มักจะได้ผลการรักษาที่ดีน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาจากผู้ป่วยเป็นรายๆไปด้วย

การฝังเข็มรักษาอัมพาตใบหน้าแบบเรื้อรัง

ผู้ป่วยอัมพาตใบหน้าแบบเรื้อรังที่เป็นมานานไม่ว่าจะเป็นแบบเบลล์หรือแบบอื่นๆ สามารถพิจารณาทำฝังเข็มรักษาได้ เนื่องจากผู้ป่วยยังอาจได้รับประโยชน์จากการรักษา ดังนี้

1) กล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรงอาจฟื้นตัวคืนมาได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นปกติทั้งหมด

2) การฝังเข็มสามารถจะแก้ไขหรือบรรเทาอาการแทรกซ้อนอื่นๆที่มีอยู่ เช่น อาการตึงชาใบหน้า, กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก,ภาวะน้ำตาไหลขณะเคี้ยวอาหาร, ภาวะตาแห้งจากน้ำตาไหลน้อย เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น

Wong CL,Wong VC(2008) รายงานการฝังเข็มรักษาผู้ป่วยอัมพาตใบหน้าแบบเบลล์รายหนึ่งที่เป็นเรื้อรังมานาน 7 ปี โดยใช้เวลารักษา 2 เดือน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ประมาณ 60-70%

กลับไปบทความน่ารู้